“ความเจ็บปวดของคุณ จะเป็นประวัติศาสตร์ ความอดทนของคุณ จะเป็นกองเพลิงในความมืดความมุ่งมั่นของคุณ จะเป็นดวงดาวส่องสว่างต่อไป ขอให้คุณมีชีวิตต่อไป เชยชมชัยชนะด้วยกัน…”
ส่วนหนึ่งจากเนื้อเพลง “ตะวันใหม่” โดย บิ๊ง กิตติพัฒน์ กนกนาค นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์ วง Shimmer Shrimpmer (วงไอดอลใต้ดิน) บทเพลงที่สื่อสารถึง ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 20 ปี ที่อดอาหารในเรือนจำ เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว
ที่ผ่านมาดนตรีกับการเมืองเป็นสิ่งที่อยู่เคียงข้างกันมาอย่างยาวนาน แต่ส่วนใหญ่จะปรากฎในบทเพลง “เพื่อชีวิต” ไม่ใช่ “วงไอดอล”
บิ๊ง กิตติพัฒน์ เล่าว่าที่ผ่านมาไอดอลถูกตีกรอบว่าจะต้องพูดแต่เรื่องความรัก และเป็นวงเพื่อชีวิตเท่านั้นที่จะพูดการเมืองได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสเตอริโอไทป์ (Stereotype) มากๆ เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะพูดเรื่องการเมือง ไม่ใช่แค่ ส.ส. นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวเท่านั้น การที่มีไอดอลอยู่ในพื้นที่การเมืองจึงไม่ใช่เรื่องแปลก
ไอดอลยังถูกตีกรอบให้รู้สึกว่าทำได้แค่บางอย่าง สมาชิกต้องเป็นคนเรียบร้อย เรียนเก่ง และหน้าตาดีเท่านั้น พวกเขาจึงต้องการทำลายกำแพง เพื่อเปิดประตูทุกบานหน้าต่างทุกช่องเพื่อทำลายมาคติที่คนมีต่อไอดอล
บิ๊ง กิตติพัฒน์
จุดเริ่มต้นการสร้างวงไอดอล
ส่วนจุดเริ่มต้นการสร้างวงไอดอล บิ๊ง กิตติพัฒน์ เล่าว่าในช่วงที่บ้านเมืองอยู่ภายใต้ม่านหมอกของรัฐประหาร เป็นช่วงที่ BNK ได้เข้ามาในประเทศไทย เหมือนเป็นแสงสว่างบำรุงจิตใจให้เขามีความสุข เขาจึงเริ่มศึกษาที่มาของไอดอลอย่างจริงจัง จนพบว่าในญี่ปุ่นมีไอดอลอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า “จิกะไอดอล” หรือ “ไอดอลใต้ดิน” แต่ในประเทศไทยยังไม่ค่อยมี จึงตัดสินใจเริ่มทำวงไอดอลมาตั้งแต่ตอนนั้น (6 ปีก่อน) ซึ่งวง Shimmer Shrimpmer เป็นวงที่ 3 แล้ว
กระบวนการค้นหาไอดอลเริ่มจากการเปิดรับสมัครสมาชิก โดยเราคัดเลือกจากความสามารถ ร้องเพลงได้ดี เต้นได้ มีทัศนคติที่ดี ไม่ได้สนใจเรื่องรูปร่างหน้าตา หรือความโด่งดังในโซเชียลมีเดีย
รูปแบบจัดการวงไอดอลใต้ดิน (Shimmer Shrimpmer)
ส่วนรูปแบบการจัดการวงจะใช้หลักการประชาธิปไตย คือทุกคนในวงทั้ง 6 คน (โปรดิวเซอร์ 1คน และสมาชิก 5 คน) มีส่วนร่วมกันบริหารจัดการ มีสิทธิออกความเห็น และโหวตเรื่องต่างๆ ได้ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Voice of Silent Youth” หรือ “เสียงของเด็กไร้เสียง” เป็นตัวแทนของเด็กและเยาวชนที่พบเจอกับปัญหามากมายทั้งในโรงเรียน ครอบครัว หรือสังคม แต่พูดออกมาไม่ได้ Shimmer Shrimpmer จะขอเป็นเสียงแทนคนเหล่านั้น ผ่านบทเพลง (ขณะนี้) ทั้งหมด 4 เพลง ประกอบด้วย เพลงตะวันใหม่
เพลง Drawing The Sky เพลงที่บอกเล่าเรื่องราวของเด็กที่มีจินตนาการแต่ถูกผู้ใหญ่พรากมันไป
เพลงใครหลับ เพลงที่ได้แรงบันดาลใจมากจากเหตุการณ์ 6 ตุลา กับเพลงปลุกใจที่ปลุกเร้าให้ผู้คนในตอนนั้นตื่นมาปกป้องบ้านเมือง ว่าใครกันที่หลับอยู่
และเพลง Dirty Jobs หรือจะเรียกว่าเป็นเพลงชาติของวง Shimmer Shrimpmer มากับแนวเพลงสนุกสนานที่สอดแทรกการเสียดสีสังคมผ่านการแสดงของเหล่าลูกเสือที่มาทำภารกิจต่างๆ
ตลาดของไอดอลใต้ดิน
บิ๊ง กิตติพัฒน์ ในฐานะนักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์ เล่าว่าในอดีตเคยพยายามผลักดันวงอยู่ในตลาดแมส (Mass Market) หรือทำเพลงให้มันป๊อบมากขึ้น ไม่ได้ว่าเพลงป๊อบไม่ดีนะ แต่พบว่ามีศิลปินมากมายที่เวียนว่ายตายเกิด ไม่ได้ไปสู่จุดที่มันมีงานจริงๆ
แต่ในตลาดของไอดอลใต้ดินปัจจุบันเราได้พิสูจน์ได้แล้วว่าเส้นทางของวงไอดอลใต้ดินมันมีตลาดของมันอยู่จริง มันมีงานจริงๆ มีพื้นที่ มีเฟสติวัลของตัวเอง และมีผู้สนับสนุน รวมไปถึงงานจ้างที่มีมาต่อเนื่อง
ที่ผ่านมาวง SHIMMER SHRIMPMER ยังได้เข้าร่วมงานยืนหยุดขัง ในวันที่ 26 มกราคม 2566 พร้อมกับเพลง Dirty Jobs และเพลงตะวันใหม่ ผ่านการชักชวนของ ไผ่ ดาวดิน (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) ทำให้วงเป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย
ส่วนใครที่ต้องการติดต่องานสามารถติดต่อได้ทุกช่องทางของ SHIMMER SHRIMPMER หรือ เบอร์ติดต่อ 084-358-9627 หากมีเงื่อนไขว่าไม่สามารถพูดเรื่องการเมืองได้ ทางวงไม่ติดขัด เพราะทุกอย่างทางวงได้สื่อสารผ่านบทเพลงแล้ว
“พวกเราคือความแวววาวของโลกใบนี้ ผู้ที่มีอุดมการณ์และความกล้าหาญ ไม่สยบยอมพร้อมต่อสู้กับความชั่วร้าย ตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตยและเด็กไร้เสียง เหล่าลูกจุ้งผู้ผดุงความยุติธรรม ฟ้า มิน แพรรี่ แบมแบม ปิ๊ง พวกเรา Shimmer Shrimpmer ฝากติดตามผลงานของพวกเราด้วยนะคะ”
ฟ้า มิน แพรรี่ แบมแบม ปิ๊ง สมาชิกวง Shimmer Shrimpmer กล่าวทิ้งท้าย