Monster คนปีศาจ แนวสืบสวนจิตวิทยาระทึกขวัญ (Psychology Thriller-Suspense) ผลงานขึ้นหิ้งของอาจารย์นาโอกิ อุราซาวะ (Naoki Urasawa) คว้ารางวัลมากมาย ได้แก่ รางวัลชนะเลิศงาน Media Arts ครั้งที่ 1 ของทบวงวัฒนธรรมญี่ปุ่นในปี 1997 รางวัลชนะเลิศเท็ตสึกะ โอซามุ ครั้งที่ 3 ในปี 1999 และรางวัลชนะเลิศของสำนักพิมพ์โชงะกุกัง ครั้งที่ 46 ในปี 2001 ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกลงในนิตยสาร Big Comic Original ตั้งแต่ปี 1994 – 2001 มี 18 เล่มจบ โดยสำนักพิมพ์โชงะกุกัง (Shogakukan) และดัดแปลงเป็น อนิเมะความยาว 74 ตอนจบ ตั้งแต่ปี 2004 – 2005 ผลิตโดย Madhouse Studio ส่วนลิขสิทธิ์ฉบับภาษา ไทย จัดพิมพ์และจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ Ned Comics (เครือเนชั่นเอ็ดดูเทนเมนท์) มี 18 เล่มจบ และ Big Book ปกแดง มี 9 เล่มจบ
Monster ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘ดร.เคนโซ เท็นมะ’ หัวหน้าแผนกศัลยกรรมระบบประสาทมือหนึ่งของโรงพยาบาลไอส์เลอร์เมโมเรียล ณ เมืองดึสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมันตะวันตกในปี 1986 ก่อนกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย สถานที่แห่งนี้ทำให้เขาติดอยู่ในวังวนเกมการเมืองและเผชิญกับภาวะบีบคั้นทางจิตใจมาโดยตลอด
คืนหนึ่งเขาได้ตัดสินใจปฏิเสธคำสั่งของผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่มักจะใช้ให้เขาทำการรักษาคนที่มีชื่อเสียงมากกว่าคนปกติทั่วไป ในคืนนั้นเองเขาเลือกที่จะรักษาเด็กชายฝาแฝดคนหนึ่งที่ถูกยิงเข้าศีรษะแทนนายกเทศมนตรี สุดท้ายเด็กคนนั้นรอดชีวิตมาได้ ส่วนนายกเทศมนตรีเสียชีวิต แต่หารู้ไม่ว่าการรักษาของเขาครั้งนี้ได้ปลุกปีศาจร้ายฟื้นคืนชีพขึ้นมานามว่า ‘โยฮัน ลีแบร์ท’ (Johan Liebert) ผู้มีรูปลักษณ์ภายนอกเปี่ยมล้นด้วยเสน่ห์ มารยาทสุภาพ น้ำเสียงนุ่มนวล ผมสีบลอนด์แพลตตินั่ม และดวงตาสีฟ้านิ่งสงบ แต่กลับซ่อนความเลือดเย็นไว้ข้างในดุจดั่ง ‘ปีศาจในคราบมนุษย์’
โดยอาจารย์อุราซาวะได้เลือกประเทศเยอรมันเป็นฉากหลังใน Monster เนื่องจากตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงสงครามเย็นส่งผลให้มนุษย์ต้องเผชิญกับความทุกข์ยาก ความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และความเหลื่อมล้ำทางสังคม นอกจากนั้นอาจารย์ยังทำให้เห็นว่าผลผลิตจากระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ในประเทศเยอรมนีตะวันออกนั้นน่ากลัวขนาดไหนโดยถ่ายทอดผ่านตัวละครโยฮัน เพราะเขาเป็นผู้นำทางการทำลายล้างด้วยเป้าหมายอันยิ่งใหญ่คือ “การเป็นคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ในวันสิ้นโลก” (The last man standing on Earth.) จากโปรแกรมคินเดอร์ไฮม์ 511 ที่จับเด็กมาทดลองให้กลายเป็นทหารที่สมบูรณ์แบบเพื่อสร้างคนที่มีจิตใจเยือกเย็นไร้ความเมตตาและปลุกปั้นให้เขากลายเป็นฮิตเลอร์คนใหม่
ขณะเดียวกันอาจารย์อุราซาวะได้นำเสนอแนวคิด ‘ชื่อ’ เนื่องจากโยฮันเป็นเพียงแค่นามแฝง ไม่มีใครรู้จักชื่อที่แท้จริงของเขา เป็นภาวะนิรนามที่ทำให้เขากล้าแสดงพฤติกรรมบางอย่างในสิ่งที่ตัวตนจริงไม่กล้าทำ อีกทั้งภาวะนิรนามนี้อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เหยื่อกล้าเปิดเผยตัวตนและเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของตนเองให้โยฮันฟังจนหมดเปลือก โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว เพราะสนใจเนื้อหาที่สื่อสารมากกว่าตัวโยฮันเอง ดังนั้นเขาจึงสามารถครอบงำและบงการเหยื่อให้ลงมือก่อคดีฆาตกรรมตามที่เขาต้องการได้ ด้วยการเข้าถึงความรู้สึกนึกคิด สภาพจิตใจ รวมไปถึงการดึงด้านมืดและจุดอ่อนของเหยื่อมาใช้ประโยชน์นั่นเอง
นอกจากนี้ประโยคสำคัญของโยฮันและดร.เท็นมะ ก็ทำให้เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าแท้จริงแล้วความเท่าเทียมของมนุษย์นั้นคืออะไร เนื่องจากดร.เท็นมะ กล่าวว่า “ทุกชีวิตถูกสร้างขึ้นมาให้เท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีสิทธิคร่าชีวิตใครทั้งนั้น” (All lives are created equal and Nobody has the right to take another’s life.) ขณะที่โยฮัน กล่าวว่า “สิ่งเดียวที่มนุษย์เท่าเทียมกันคือความตาย” (The only thing humans are equal in is Death.)
แม้กระทั่งเรื่อง ‘Ego’ หรือความเชื่อมั่นในตัวเองก็ยังถูกหยิบยกมาถ่ายทอดผ่านตัวละคร ‘สารวัตลุงค์เก้’ นักสืบสังกัดสำนักงานตำรวจทางอาญาของเยอรมัน (Bundeskriminalamt – BKA) เพราะเขาปักใจเชื่อตั้งแต่แรกแล้วว่าดร.เท็นมะ คือฆาตกรที่ลงมือสังหารผู้อำนวยการโรงพยาบาลและทีมแพทย์อีก 2 คน รวมไปถึงคดีฆาตกรรมต่าง ๆ ที่ดร.เท็นมะ เข้าไปพัวพันอย่างไม่รู้ตัว แม้ว่าหลักฐานจะบ่งชี้ว่าดร.เท็นมะ เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ทว่าสารวัตลุงค์เก้ ก็ยังคงยึดมั่นในแนวคิดของตนเอง ไล่ตามดร.เท็นมะ อย่างไม่ลดละ จนถึงจุดหนึ่งเขาจึงค่อย ๆ ลดอีโก้ของตัวเองลง และนั่นทำให้เขายอมรับความจริงที่เกิดขึ้น
ด้วยเหตุนี้หากใครชื่นชอบแนวระทึกขวัญ จิตวิทยา และสืบสวน คงประทับใจและตกหลุมรักเรื่องนี้ได้ไม่ยาก เพราะ Monster คนปีศาจ มีกลิ่นอายแบบ Sherlock Holmes และ Hannibal พอสมควร ซึ่งตอนนี้สามารถรับชมอนิเมะ Monster คนปีศาจ จำนวน 30 ตอน (จากทั้งหมด 74 ตอน) ได้แล้ววันนี้ทาง Netflix
อ้างอิง