เป็นอีกหนึ่งเวทีประกวดนางงามที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาถึง 7 ทศวรรษ สำหรับ มิสยูนิเวิร์ส หรือ นางงามจักรวาล นับตั้งแต่เริ่มจัดการประกวดครั้งแรกขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1952 โดย แปซิฟิก มิลส์ (Pacific Mills) บริษัทเสื้อผ้าจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้บุกเบิกเวทีแห่งเกียรติยศของสาวงามทั่วโลก ก่อนจะมาอยู่ในมือของ “แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” สตรีข้ามเพศคนไทยคนแรก ผู้เป็นเจ้าขององค์กรมิสยูนิเวิร์สคนปัจจุบัน
กว่า 70 ปีที่ผ่านมา นอกจากสาวงามจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่สลับสับเปลี่ยนกันขึ้นมาเป็นผู้ครองตำแหน่งนางงามจักรวาล “มงกุฎ” สัญลักษณ์แห่งเกียรติยศอีกหนึ่งสิ่งสำคัญบนเวที ก็ถูกปรับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามโอกาส เพื่อให้คู่ควรกับสาวงามเจ้าของตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สในปีนั้นๆ ด้วย
FEED ได้ทำการรวบรวมมงกุฎทั้ง 12 รุ่นของมิสยูนิเวิร์ส นับตั้งแต่ปีแรกที่จัดการประกวด มาจนถึงปีล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไป มาให้ได้ชมกัน
รุ่นที่ 1. Romanov Imperial Nuptial Crown
เป็นมงกุฎแห่งราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซีย ที่ตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อใช้มอบให้กับหญิงสาวที่จะมาแต่งงานกับราชวงศ์ แต่กลับถูกนำมามอบให้กับ “อาร์มี คูเซลา” นางงามจากประเทศฟินแลนด์ สาวงามที่ได้ตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สเป็นคนแรกในปี ค.ศ. 1952 มงกุฎประดับด้วยเพชรทั้งหมด 1529 เม็ด รวมทั้งสิ้น 300 กะรัต เป็นปฐมบทตำนานมงกุฎมงแรกที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับเวทีนางงามจักวาล
รุ่นที่ 2. The Christiane Martel Crown
มงกุฎที่มีการดีไซน์ให้คล้ายกับแผ่นโลหะสีบรอนซ์ ทำขึ้นมาจากทองสัมฤทธิ์ โดยไม่มีการประดับอัญมณี ทำให้มงกุฎมีรูปทรงที่แปลกตาจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ ถูกใช้ในปี ค.ศ. 1953 มี “คริสตียาน มาร์แตล” นางงามจากฝรั่งเศส เป็นผู้ครอบครองมงกุฎนี้
รุ่นที่ 3. Star Of The Universe Crown
มงกุฎดาวแห่งจักรวาล ที่เรียกกันว่ามงกุฎดาวเพราะตัวมงกุฎมีรูปดาวอยู่ที่ด้านบนของตัวมงกุฎ อัญมณีที่ใช้ประดับมงกุฎเป็นไข่มุกประมาณ 1 พันเม็ด รวมทองคำและแพลตตินั่ม แต่มีน้ำหนักเพียง 1.25 ปอนด์เท่านั้น Star Of The Universe Crown ถูกมอบให้กับสาวงามผู้ดำรงตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สในปี ค.ศ. 1954-1960 โดยใช้มงกุฎนี้มงกุฎเดียว ไม่มีการทำขึ้นมาใหม่เพื่อส่งมอบให้กับสาวงามคนต่อไปที่ได้รับตำแหน่ง จึงทำให้มีสาวงามได้ครอบครองมงกุฎนี้ถึง 7 คนด้วยกัน ในยุคนั้น มีการเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทุกครั้งที่นางงามออกปฏิบัติหน้าที่พร้อมกับมงกุฎด้วย
รุ่นที่ 4. The Lady Rhinestone Crown
เป็นมงกุฎที่ทำขึ้นมาเพื่อฉลองการครบรอบ 10 ปี การประกวดมิสยูนิเวิร์ส จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “The 10th Anniversary Crown” มงกุฎทำขึ้นจากทองคำบริสุทธิ์ ประดับด้วยไรน์สโตนหรือพลอยเทียม มีดวงดาว 5 แฉกอยู่บนยอดมงกุฎ สร้างความฮือฮาให้กับแฟนนางงามในยุคนั้นเป็นอย่างมาก โดยมงกุฎถูกมอบให้กับสาวงามผู้ดำรงตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สในปี 1961-1962
รุ่นที่ 5. The Sarah Conventry Crown
จุดเด่นของมงกุฎนี้คือมีรูปร่างหญิงสาวถือคฑาประดับอยู่ตรงกลางมงกุฎ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เดียวกันกับตราสัญลักษณ์การประกวดมิสยูนิเวิร์ส ถูกมอบให้กับสาวงามผู้ดำรงตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สในปี ค.ศ. 1963-1972 โดยหนึ่งในนั้นมี “อาภัสรา หงสกุล” นางงามจักรวาลปี 1965 สาวไทยเพียงคนเดียว เป็นผู้ที่ได้สวมมงกุฎรุ่น The Sarah Conventry Crown ด้วยเช่นกัน
รุ่นที่ 6. The Chandelier Crown
ถูกนำมาใช้ในการประกวดในปี ค.ศ. 1973 เป็นมงกุฎในตำนานที่ถูกดัดแปลงจากมงกุฎรุ่นก่อนๆ ทำให้เป็นมงกุฎที่มีความงามแบบคลาสิก มีการเปลี่ยนลวดลายรอบมงกุฎใหม่ และสามารถปรับขนาดตามศีรษะของนางงามได้ ถูกมอบให้กับสาวงามผู้ดำรงตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สในช่วงปี ค.ศ. 1973-2001 กินระยะเวลานานถึง 28 ปี และหนึ่งในสาวงามที่ได้สวมมงกุฎนี้ก็คือ “ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก” มิสยูนิเวิร์สคนที่สองของประเทศไทย ที่ได้รับตำแหน่งในปี ค.ศ. 1988
รุ่นที่ 7. The Mikomoto Crown
มงกุฎที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุด ถึงความสวยงาม อลังการและหรูหราสมกับสาวงามระดับจักรวาล ออกแบบโดย “โทโมฮิโระ ยามาจิ” ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น จากแบรนด์ไข่มุกชื่อดัง Mikomoto มงกุฎได้รับแรงบันดาลใจมาจากขนนกฟินิกซ์ ตัวมงกุฎทำด้วยทองคำขาวบริสุทธิ์ ประดับเพชร 800 เม็ด รวม 18 กะรัต และไข่มุกอีก 120 เม็ด
ถูกมอบให้กับสาวงามผู้ดำรงตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สในปี 2002-2007 โดยมี “ออกซานา เฟโดโรวา” นางงามจักรวาล ปี ค.ศ. 2002 จากประเทศรัสเซียสวมใส่มงกุฎรุ่น The Mikimoto Crown เป็นคนแรก และมงกุฎ Mikomoto ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในปี 2017-2018 ปีของ “เดมี-ลีห์ เนล-ปีเตอร์” และ “แคทรีโอนา เกรย์” สาวงามคนสุดท้ายที่ได้สวมมงกุฎ Mikimoto
รุ่นที่ 8. Cao Fine Jewelry Crown
มงกุฎจากสปอนเซอร์ Cao Fine Jewelry ซึ่งเป็นบริษัทอัญมณีในประเทศเวียดนาม ทำขึ้นจากทองคำขาวและทองเหลืองผสมกันทั้งหมด 18 กะรัต ประดับเพชรใสอีกทั้งหมด 30 กะรัต พร้อมด้วยเพชรสีคอนยัค, หินควอตซ์และพลอยมอร์กาไนต์ ถูกมอบให้กับสาวงามผู้ดำรงตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สในปี ค.ศ. 2008 นั่นก็คือ “ดายานา เมนโดซา” สาวงามจากประเทศเวเนซุเอลา ที่สวมชุดราตรีสีเหลืองในการประกวดรอบสุดท้ายพอดี ทำให้สีของมงกุฎเข้ากับชุดราตรีของเธอเป็นอย่างมาก
รุ่นที่ 9. Peace Crown
จัดทำขึ้นโดย Diamond Nexus Labs เป็นมงกุฎที่ประดับด้วยเม็ดหินสังเคราะห์ที่ไม่ทำลายธรรมชาติจำนวน 1400 เม็ด และทับทิมสีแดง เพื่อสื่อถึงการรณรงค์การป้องกันการติดเชื้อ HIV โดยมี “เอสเตฟานิอา เฟร์นันเดซ” มิสยูนิเวิร์ส ปี ค.ศ. 2009 จากเวเนซูเอลา สวมใส่มงกุฎนี้เป็นคนแรก และถูกมอบให้สาวงามคนต่อไปอีกจนถึงปี ค.ศ. 2013 อย่าง “กาบริเอลา อิสเลร์” ซึ่งมาจากประเทศเวเนซูเอลาเหมือนกันที่ได้สวมมงกุฎรุ่นนี้
รุ่นที่ 10. The Dic Crown
มงกุฎที่จัดทำขึ้นโดย Diamond International Corporation (DIC) ความโดดเด่นของมงกุฎรุ่นนี้คือแท่งเหลี่ยมไล่ระดับ เพื่อสื่อถึงภาพตึกสูงในมหานครนิวยอร์ก สถานที่ตั้งขององค์กรมิสยูนิเวิร์ส ประดับด้วยแซฟไฟร์สีน้ำเงิน แปลกตาจากมงกุฎที่เคยมีมามากๆ มี “เปาลินา เบกา” มิสยูนิเวิร์ส ปี ค.ศ. 2014 จากประเทศโคลอมเบีย สวมใส่ The Dic Crown เป็นคนแรก จนถึงปี ค.ศ. 2016 ปีของ “อีริส มีเตอนาร์” สาวงามจากฝรั่งเศสที่ได้ครองมงกุฎในปีนั้น
รุ่นที่ 11. Mouawad Power Of Unity
เป็นมงกุฎที่เริ่มรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อสาวงามผู้ดำรงตำแหน่งมิสยูนิเวิร์ส ปี ค.ศ. 2019 ออกแบบมาเพื่อสะท้อนปรัชญาของกองประกวด คือความเข้มแข็ง การส่งเสริมบทบาทสตรีและความผูกพันสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ทำจากโครงทองคำ 18k แกะลวดลายเถาดอกใบฝังเพชรสีขาวระยิบระยับ ประดับเพชรคานารีสีทอง เม็ดขนาดกลาง 62.83 กะรัต ผ่านการเจียระไนแบบมิกซ์คัตเพื่อสะท้อนถึงความเข้มแข็งในตัวสตรี และพลังอันยิ่งใหญ่ของความสามัคคี โดยมี “โซซิบินี ทุนซี” มิสยูนิเวิร์ส 2019 สวมใส่เป็นคนแรก ต่อด้วย “แอนเดรีย เมซา” มิสยูนิเวิร์ส 2020 และ “ฮาร์นาซ สันธู” มิสยูนิเวิร์ส 2021 เป็นคนที่สามที่ได้สวมมงกุฎนี้
ล่าสุดกับ รุ่นที่ 12. Force for Good Crown
ออกแบบมาเพื่อสะท้อนความเชื่อขององค์กรนางงามจักรวาล ที่ว่าอนาคตของโลกจะหล่อหลอมขึ้นโดยผู้หญิงที่พร้อมผลักดัน ทุกขีดจำกัดของทุกสิ่งที่เป็นไปได้ และโดยผู้หญิงที่เปี่ยมด้วยความสามารถจากทั่วโลก ที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก ขึ้นรูปและประกอบด้วยมือทั้งหมด ทำด้วยด้วยไพลินรูปหยดน้ำล้อมเพชร ใช้อัญมณีจำนวน 993 เม็ด เป็นไพลิน 110.83 กะรัต และ เพชร 48.24 กะรัต รวมมูลค่า 200 ล้านบาท
ฐานของมงกุฎประดับด้วยเพชร เมื่อมองจากฐานขึ้นมาจะเห็นลวดลายของเกลียวคลื่นที่กระเพื่อม สะท้อนถึงจังหวะของการเปลี่ยนแปลง มีการม้วนตัวของเกลียวคลื่นที่ฐานมงกุฎมีลักษณะเหมือนศีรษะงู และไพลินน้ำเงิน สะท้อนความเข้มลึกของสีซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคุณงามความดีที่เป็นผลจากความมุ่งมั่น และความหวังต่ออนาคตอันสดใส
ส่วน สาวงาม คนใดจะได้เป็นผู้ครอบครองมงกุฎใหม่ ติดตามได้ในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2022 ที่จะมีขึ้นในต้นเดือนมกราคมที่จะถึงนี้