8 ธันวาคม 2565 คือวันที่ “พี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์“ อายุครบ 64 ปี บริบูรณ์ ถ้าเทียบกับ “ข้าราชการ” คือบุคคลเกษียณมาแล้ว4ปี แต่สิ่งที่หลายคนมี ‘ฉันทามติ’ ร่วมกัน คือกาลเวลาและอายุ ทำอะไรเขาคนนี้ไม่ได้ และคำว่า “ซูเปอร์สตาร์เมืองไทย” ก็ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย ทุกคนต่างยอมรับในความสามารถตั้งแต่ก่อนเข้าวงการเพลง
เบิร์ด ธงไชย เคยได้รับรางวัล ‘นักร้องดีเด่น’ และรางวัลพิเศษจากคณะกรรมการอีก 2 รางวัล จากการเข้าร่วมประกวดร้องเพลงชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย สยามกลการ ก่อนจะออกอัลบั้มเต็มตัว
มาถึง พ.ศ.2565 นี้ เบิร์ด ธงไชย ออกอัลบั้มมาแล้วกว่า 22 อัลบั้ม ยอดขายรวมกันทุกชุดมากกว่า 25 ล้านชุด คอนเสิร์ต-ภาพยนตร์-ละคร-โฆษณาอีกมหาศาล แต่ถึงกระนั้นชีวิตของ เบิร์ด ธงไชย ไม่ได้มีหนทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบมาตั้งแต่แรก
เบิร์ด ธงไชย ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านในหลายรายการตลอดชีวิตที่ผ่านมาว่าต้องผ่านวัยเด็กครอบครัวค่อนข้างยากจน ต้องทำงานหลายอย่าง เพื่อหารายได้ช่วยครอบครัว ซึ่งเขามีพี่น้องอีก9 คน และหนึ่งอาชีพที่เขาทำก่อนมาเป็นนักร้องคือการทำงานที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาท่าพระ อยู่แผนกต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการทำงานเสริมอื่น ๆ เช่น ถ่ายแบบ ถ่ายโฆษณา รวมถึงเป็นพนักงานเปิดประตูในดิสโก้เธคชื่อดังเมื่อ30กว่าปีก่อน จนทำให้เจอกับผู้จัดละครชื่อดังและเป็นอีกหนึ่งทางที่ทำให้ได้เข้ามาสู่วงการ
“คนมองหนัง” คอลัมน์ชื่อดังใน นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ได้ชี้จุดเปลี่ยนสำคัญในวงการเพลงที่ทำให้พี่เบิร์ดเป็นซุปตาร์อันดับหนึ่งของวงการนี้ได้ มาจากช่วงผลงานชุด “บูมเมอแรง” (พ.ศ.2533) และ “พริกขี้หนู” (พ.ศ.2534) ซึ่งถือเป็น 2 ใน 3 “จุดเปลี่ยนสำคัญ” ของ เบิร์ด ธงไชย ซึ่งเจ้าตัวเคยยอมรับผ่านการให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆนี้ ว่าเคยได้รับความกดดันจาก “เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์” หัวเรือใหญ่แกรมมี่ ว่าถ้าหากทำภารกิจนี้(การออกอัลบั้ม)ไม่ได้ประสบผลสำเร็จเท่าที่คาดก็อาจจะไม่ได้ไปต่อ ? ซึ่งอาจจะเป็นกุศโลบายบางอย่างในการดึงศักยภาพของ เบิร์ด ธงไชย ออกมาให้สุด และตรงใจคนที่สุด ซึ่ง“คนมองหนัง”ได้มองความหมายของคำว่า “บูมเมอแรง” แฝงนัยยะว่า “เบิร์ดนี่ความจริงเขายังไม่ไปไหนหรอก ยังไงเขาต้องอยู่ตรงนี้ แล้วก็จะยังอยู่อีกนาน” เหมือนกับบูมเมอแรง อัลบั้มที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อในฐานะนักร้องของ เบิร์ด ธงไชยจนทำให้ประสบความสำเร็จต่อเนื่องมาอีกหลายต่อหลายอัลบั้ม
อย่างไรก็ตามอีกหนึ่งจุดสูงสุดของ เบิร์ด ธงไชย นั่นคือ ผลงานชุดรับแขกที่มีเพลงดังอย่าง “แฟนจ๋า” ก็ยิ่งตอกย้ำความสำเร็จของซุปตาร์ค้างฟ้าคนนี้ที่มีโจอี้ บอย มาช่วยแต่ง มีการแจมกับวัฒนธรรมความเป็นไทยแต่ละภาค ดึง นัท มีเรีย , จินตรา พูนลาภ และ แคทลียา อิงลิช มาเติมเต็มความเป็นใต้ อีสาน และ สาวเหนือจนทำให้ความสำเร็จพุ่งทะยานสูงสุดยอดขายพุ่ง 5ล้านตลับ ทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศจำนวนมากและมีอัลบั้มพิเศษตามมาอีก
ความสำเร็จของ เบิร์ด ธงไชย ไม่ได้เกิดจากคนใดคนหนึ่งแต่นั่นหมายถึงทีม และ ความครีเอทีฟ การปรับตัวให้เบิร์ด ธงไชย สามารถไปแจมกับส่วนต่างๆ ทำให้ความนิยมขยายฐานไปสู่สิ่งใหม่ๆ เบื้องหลัง “การคิด” อะไรแบบนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ที่มีส่วนสำคัญอย่างมากนั้นคือ “พี่เล็ก บุษบา ดาวเรือง” หัวเรือใหญ่อีกคนของแกรมมี่ที่ทำหน้าที่คู่คิดกับพี่เบิร์ด เสมอมาทั้งอัลบั้ม งานคอนเสิร์ต และวิธีการที่ทำให้ “พี่เบิร์ด” ยังคง “ขลัง” และน่าติดตาม เติมความสดใหม่ เติมไอเดียที่อาจจะไม่ได้ประสบแง่ยอดแบบในอดีตมาก แต่ในแง่คุณภาพคือยังคงยืนหนึ่ง ซึ่งจุดนี้เองเราจะเห็นได้ว่า เบิร์ด ธงไชย ในวัยหลัง “แซยิด” มักมีการปรับตัวจอย-แจมกับนักร้องรุ่นน้อง รุ่นเล็กจำนวนมากที่ส่งเสริมเกื้อกูลและขยายฐานซึ่งกันและกัน ไปจนถึงจุดสำคัญที่การออกรายการในยุคสมัยนี้มิได้จำกัดแค่ “จอทีวี” ช่องมากสีน้อยสีแบบในอดีต เบิร์ด ธงไชย ขยับมาไลฟ์ มา “คลับเฮ้าส์” ไปออกน้าเน็ก ออกหนุ่มกรรชัย ไปออกอีกหลายรายการซึ่งเป็น “พื้นที่ใหม่ๆ” ทำให้ “มีความเชื่อมโยง” ประสานกับเจเนเรชั่น ที่อาจจะมองว่า “ซุปตาร์รุ่นเดอะ” เช่นนี้ เป็นสิ่งที่ขลังและน่าเกรงขามเข้าถึงได้ยาก จนกลายเป็น “พี่เบิร์ดสามารถทำอะไรแบบนี้ได้ด้วยหรือ” ? คือสิ่งสำคัญที่ทำให้ “ความนิยม” ของชายผู้นี้ ไม่มีวันหมดมนต์
เรียบเรียง พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์