หลังการถือครองลิขสิทธิ์เจ้าของเวทีนางงามจักรวาล หรือมิสยูนิเวิร์ส อย่างเต็มตัวและเป็นทางการ โดย “แอน – จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป สตรีข้ามเพศและคนไทยคนแรกที่เป็นเจ้าขององค์กรนางงามจักรวาล ในโอกาสย่างเข้าสู่ปีที่ 71 พร้อมจัดงานฉลองความสำเร็จ โดยมี “เอมี่ เอมเมอร์ริช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารองค์กรนางงามจักรวาล และ “พอลล่า ชูการ์ต” ประธานองค์กรนางงามจักรวาล และบรรดานางงามจักรวาลเข้าร่วมอย่างยิ่งใหญ่ไปก่อนหน้านี้
ความสำเร็จของการถือครองลิขสิทธิ์นางงามจักรวาลของคนไทยในครั้งนี้ นำมาซึ่งความภูมิใจเกิดขึ้นในกลุ่มแฟนคลับนางงาม ที่มองการณ์ไกลไปถึงขั้นมงกุฎที่ 3 คงจะเป็นของสาวไทยอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
ผู้เชี่ยวชาญด้านการประกวดและกูรูนางงามชื่อดัง “พี่หนุ่ม-นันท์นภัทร เจิมจุติธรรม” ได้ร่วมพูดคุยถึงประเด็นนี้กับทีมงาน FEED มองว่านี่คือโอกาสและก้าวใหม่ของวงการนางงามไทย
หนุ่ม นันท์นภัทร : เป็นข่าวดีมากๆ พี่ยกตัวอย่างพี่เป็นต้น พี่ติดตามการประกวดนางงามจักรวาลมานานมาก อย่างน้อยก็ 30-40 ปี พี่ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าลิขสิทธิ์ของการประกวดนางงามจักรวาลจะตกมาอยู่ในมือของคนไทย ในอดีตกาลเลยพอตอนจบการประกวดนางงามเอนด์เครดิตขึ้น บริษัทแรกที่พี่รู้จักคือ Miss Universe Incorporation ต่อมาเราเห็นเปลี่ยนมือเป็นยุคของโดนัล ทรัมป์ แล้วรูปแบบของนางงามก็เปลี่ยนไป เราก็จะเห็นทรัมป์ในโอกาสต่างๆ ต้อนรับนางงามนั่นนี่ ต่อมาเปลี่ยนเป็นยุคของ IMG โดยมี พอลลา ชูการ์ต เป็นตัวแทน
ครั้งแรกที่พี่ได้ข่าวมาเนี่ย เราก็รู้สึกขนลุกด้วยความเอ๊ะ จริงหรือเปล่า มันจะจริงหรอ มันจะเป็นความจริงไปได้ยังไง คนไทยจะไปซื้อบริษัทอันนี้มาบริหารได้ยังไง แต่ต่อมาเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างถูกประกาศออกมา ถูกแถลงข่าวออกมา ทำให้เรามีความรู้สึกชุ่มชื่นใจ และมีความรู้สึกปลาบปลื้มยินดีที่เราก้าวไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว
“อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม” มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ถูกพูดถึงว่าเป็นตัวต้นเรื่องที่ทำให้ แอน จักรพงษ์ ตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์มิสยูนิเวิร์สมาดูแลเอง เนื่องจากเกิดความเสียดายในศักยภาพเมื่อครั้งประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2020 และ “แองเจล่า ปอนเซ่“ (Angela Ponce) สตรีข้ามเพศเจ้าของตำแหน่ง มิสยูนิเวิร์สสเปน 2018 คืออีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้แอน จักรพงษ์ เพื่อต้องการขยายขอบเขตและเปิดโอกาสให้กับสาวงามที่มีฝันอย่างเท่าเทียมกัน
หนุ่ม นันท์นภัทร : คงเป็นความชอบส่วนตัว พี่คิดว่าอันนั้นเป็นส่วนหนึ่ง พี่คิดว่าคุณแอนมองทิศทางทางด้านธุรกิจด้วย เพราะว่าเธอเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว เมื่อเป็นนักธุรกิจบวกกับความชื่นชอบส่วนตัว ก็เลยออกมาเป็นธุรกิจบันเทิงด้านนางงามแบบนี้ ทรานเจนเดอร์คนนั้นก็อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นในปีนี้กฎของการประกวดก็ถูกขยายขึ้นว่าทรานเจนเดอร์สามารถประกวดมิสยูนิเวิร์สได้ รวมทั้งสุภาพสตรีที่แต่งงานแล้วก็สามารถประกวดมิสยูนิเวิร์สได้ด้วย
พี่ยังไม่เห็นภาพว่าเมื่อทั้งสามอย่างมารวมกันแล้วจะเป็นยังไง แต่พี่เคยเห็น LGBTQ มิสสเปนคนนั้นในปี 2018 แล้ว แต่ว่าสุภาพสตรีที่แต่งงาน แล้วพอมาอยู่ด้วยกัน เราก็ต้องให้โอกาสคนคิดคอนเทนต์อันนี้ก่อนว่าพอมารวมกันแล้วจะเป็นยังไง แต่ว่าสำหรับพี่แล้วพี่ก็มีความรู้สึกว่า 2 อย่างนะ อย่างหนึ่งก็คือโอเค ลองทำไปก่อนเพราะเรายังไม่เห็นภาพ อาจจะดีหรืออาจจะไม่ดีเพราะสิ่งนั้นยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่ว่าด้วยความที่พี่ดูนางงาม 30-40 ปี พี่ดูนางงามมาตั้งแต่ยุคโบราณ ดังนั้นทัศนวิสัยพี่ค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยม “พี่มีความรู้สึกว่าผู้หญิงจะประกวดกับผู้หญิง”
พี่ยกตัวอย่างอย่าง ถ้าเป็นการแข่งขันกีฬา ผู้หญิงกับทรานเจนเดอร์ยิ่งไม่ควรประกวดด้วยกัน เพราะความความแข็งแรงทางร่างกายต่างกันลิบลับ ดังนั้นพอมาถึงในการประกวดนางงามจักรวาล พี่ว่าความกลมกล่อมของ LGBTQ ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดเราจะมีศัลยกรรมแล้ว แต่พี่ก็ไม่แน่ใจว่าท้ายที่สุดพอเจอกันแล้ว ใครจะได้เปรียบมากน้อยกว่ากัน
รวมทั้งสุภาพสตรีที่แต่งงานแล้ว ไม่ว่าเธอจะอายุเท่าไรก็แล้วแต่ พี่คิดว่าประสบการณ์ในชีวิตมีมากกกว่าสุภาพสตรีที่ยังไม่ได้แต่งงาน มีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตมากกว่า ดังนั้นข้อได้เปรียบของสุภาพสตรีที่แต่งงานแล้วจะมีมากกว่าหรือเปล่า แต่ข้อด้อยทางร่างกายละ เราเอามาประมวลสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไหม
แล้วท้ายที่สุด เมื่อทั้ง 3 ประเภทอยู่บนเวทีเดียวกัน จะถูกตัดสินในแบบเดียวกันหรือเปล่า หรือถูกตัดสินกันในแต่ละคนแต่ละคะแนน ซึ่งพี่ว่าตรงนี้เป็นความยาก สองเป็นความท้าทายของผู้ที่คิดคอนเทนต์อันนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าเมื่อออกมาแล้วจะเป็นยังไง อย่าเพิ่งตัดสินว่ามันดีหรือไม่ดี พี่คิดว่ารอให้เขาทำก่อนและคอยดู
หนุ่ม-นันท์นภัทร เจิมจุติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการประกวดและกูรูนางงามชื่อดัง
การที่คนไทยถือลิขสิทธิ์เวทีมิสยูนิเวิร์ส มีโอกาสที่ตัวแทนสาวไทยจะได้มงกุฎหรือไม่?
หนุ่ม นันท์นภัทร : ในมุมมองของพี่ พี่คิดว่าถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา พี่เชื่อว่ามีโอกาส มีโอกาสจะไบแอสได้เล็กๆ เหมือนกับสมมติว่าพี่เป็นคนไทยเนอะ เวลาเราดูนางงามจักรวาลหรือนางงามโลก นางงามนานาชาติอะไรก็แล้วแต่ ต่อให้คนไทยเรารู้สึกว่า สู้เขาไม่ได้หรอก แต่ในใจเราก็คิดว่าฟลุ๊คน่ะ เขาจะต้องได้ ใจเราจะเอนเอียงไปทางนางงามไทยอยู่แล้วอย่างนี้ค่ะ ถ้านางงามไทยไม่ผ่านเข้ารอบ ใจเราก็จะไปที่เอาเอเชียก็ยังดี ญี่ปุ่นยังอยู่ เกาหลียังอยู่ ฟิลิปปินส์ยังอยู่อย่างนี้ เชียร์ใกล้ๆ บ้านเราก่อน เอ้าถ้าใกล้ๆ บ้านเราไม่อยู่แล้วตอนนี้ก็ไปเชียร์อะไรก็ได้แล้ว
ดังนั้นพี่คิดว่าในส่วนแบบนี้คนเราไม่ใช่ตาชั่ง มนุษย์ไม่ใช่ตาชั่ง ดังนั้นความโอนเอียง เอนเอียงหรือว่าความไบแอสมีในทุกๆ คน ดังนั้นก็มีโอกาสที่จะไบแอสได้เบาๆ พี่คิดว่าอย่างนั้นนะ แต่ว่าถ้าเป็นโจ่งแจ้งเลยพี่ว่าลำบาก
“ทุกวันนี้เรามักจะพูดถึงเรื่องความยุติธรรม เรื่องสิทธิต่างๆ ดังนั้นเนี่ย เมื่อทุกคนเข้ามาประกวดแล้ว ไม่ว่าเจ้าของลิขสิทธิ์จะเป็นไทย เป็นสหรัฐฯ เป็นเวเนซูเอลา เป็นฟิลิปปินส์หรือใครก็แล้วแต่ พี่คิดว่าผู้หญิงที่เข้ามาประกวดควรจะถูกตัดสินใจมาตรฐานเดียวกันหมด” หนุ่ม นันท์นภัทร กล่าว
ขอขอบคุณโรงพยาบาล Masterpiece เอื้อเฟื้อสถานที่สัมภาษณ์