ถ้าจะทำความเข้าใจ วัฒนธรรม Y ไทย ต้องตั้งต้นย้อนกลับไปช่วงทศวรรษ 2540 หรือรอยต่อระหว่างยุค 1990 และ 2000 ถ้าใครมีประสบการณ์ร่วมหรือเติบโตมาในช่วงนั้น คงจะสัมผัสได้ถึงกระแสวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย และหนึ่งในนั้น ก็คือ การ์ตูน “ยาโออิ” หรือ “Y”
หลายคำที่ปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์ยุคดังกล่าว อย่าง “การ์ตูนโป๊” “การ์ตูนเกย์ญี่ปุ่น” หรือ แม้แต่การถูกขนานนามว่าเป็น “การ์ตูนสายพันธุ์ใหม่” ในรายการโทรทัศน์ อาจแสดงปฏิกิริยาของคนในสังคมส่วนหนึ่งต่อ “วัฒนธรรม Y” ได้เป็นอย่างดี ว่าออกไปในทางไหน
หรือถ้าจะพูดให้ชัดขึ้นไปอีก วัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างหนังสือการ์ตูน ซึ่งรวมไปถึง “สาย Y” เคยตกอยู่ในช่วงเวลาที่คนในวงการนิยามกันว่าเป็น “ยุคบาดแผล” หรือ “ช่วงหลุมดำ” กันทีเดียว

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นหลังจากรายการ “หลุมดำ” ซึ่งเป็นรายการทีวีเนื้อหาหนักเชิงสะท้อนสังคม ผลิตโดยบริษัททีวีบูรพา ออกอากาศตอนที่ชื่อ “การ์ตูนสายพันธุ์ใหม่ ใครคือเหยื่อ” ทางช่องโมเดิร์นไนน์ (ชื่อในสมัยนั้น) ในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2548
การเผยแพร่รายการโทรทัศน์ตอนดังกล่าวสร้าง “ความแตกตื่น” ต่อการ์ตูนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีทางเพศอย่างเปิดเผย (แบบที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีตามค่านิยมของสังคมยุคนั้น) จนอำนาจรัฐอย่าง “ตำรวจ” เข้ามา “กวาดล้าง” การ์ตูนจำพวกนี้เพราะถูกมองว่าเป็น “สื่อลามกอนาจาร และปลูกฝังความรุนแรงให้แก่เด็ก”
แต่ใครจะไปเชื่อว่าเกือบ 20 ปีถัดมา สังคมไทยจะก้าวไปข้างหน้า กระทั่ง “วัฒนธรรม Y” ที่เคยเป็นของผิดแปลก กลับทะยานขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญของไทย
เห็นได้จากการที่ “ซีรีส์ Y ไทย” มีคนดูผ่านระบบสตรีมมิงในหลายทวีปทั่วโลก จนสื่อต่างประเทศอย่าง “South China Morning Post” วิเคราะห์ว่าอาจเป็นหนึ่งในความหวังที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยในยุคโควิด-19 นี้เลยทีเดียว
FEED อยากชวนคุณมองย้อนประวัติศาสตร์ 2 ทศวรรษ ว่าก่อนจะมาถึงวันนี้ “อุตสาหกรรม Y” ของไทย ต้องผ่านอะไรมาบ้าง? ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในปัจจุบันอยู่ตรงจุดใด? แล้วหลังจากนี้ จะไปทางไหนกันต่อ?

นำเข้าจากญี่ปุ่น สู่ยุค “ประวัติศาสตร์และบาดแผล”
แม้การสืบหาที่มาของวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งว่าจุดไหนเป็นจุดเริ่มต้น อาจจะทำได้ไม่ชัดเจนเป๊ะๆ แต่จากงานศึกษาวัฒนธรรม “สาว Y” ของ “นันทิชา ลือพืช” ซึ่งอ้างถึงการศึกษาของ “วิชญา ชัยชนะศักดิ์” เกี่ยวกับพัฒนาการของ “สื่อ Y” ในประเทศไทยนั้น วิชญาได้แบ่งกระแสของ “วัฒนธรรม Y” ในไทย ออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ ตามเหตุการณ์สำคัญ ดังนี้
ช่วงที่หนึ่ง ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2530 ถึง 2540 เป็นช่วงเวลาที่วัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นได้รับความนิยมในประเทศไทย ผ่านดนตรี ภาพยนตร์ เกมส์ การ์ตูน ฯลฯ รวมไปถึง “วัฒนธรรม Y” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบชายรักชาย ซึ่งก็ถูกนำเข้ามาในไทยช่วงนี้ด้วยเช่นกัน
แต่ในช่วงแรกของการเข้ามาในประเทศไทยนั้น “วัฒนธรรมสาย Y” ยังไม่เป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง มักจะเป็นการบอกกันปากต่อปากในหมู่ผู้อ่านการ์ตูน หรือเผยแพร่ผ่านบล็อกออนไลน์ในรูปแบบ “แฟนฟิกชัน” (Fanfiction) หมายถึงการนำตัวละครในวรรณกรรมต้นฉบับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มาสร้างเนื้อเรื่องต่อยอดในหมู่ผู้อ่าน-ผู้เขียน
ช่วงที่สอง เกิดขึ้นหลังจาก “วัฒนธรรม Y” ได้รับความนิยมในโลกอินเทอร์เน็ต ต่อยอดมาจากช่วงแรก แต่เมื่อ “การ์ตูน Y” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศสภาพและเพศวิถีอย่างเปิดเผย ได้รับความนิยมทั้งทางออนไลน์และตามร้านหนังสือ ก็ทำให้เกิดอาการ “ตื่นตระหนก” ในสังคม ที่คงปฏิเสธได้ยากว่ามีลักษณะเป็นอนุรักษนิยมทางวัฒนธรรมในสมัยนั้น

หมุดหมายสำคัญในช่วงนี้ คือ วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2548 รายการ “หลุมดำ” ได้ออกอากาศเนื้อหาตอน “การ์ตูนสายพันธุ์ใหม่ ใครคือเหยื่อ” ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ “วัฒนธรรมการ์ตูน Y” ในสังคมไทย ดังที่เกริ่นในช่วงต้น
มีส่วนหนึ่งของรายการที่ให้บรรดาผู้ปกครองได้อ่านหนังสือ “Y” และถามความรู้สึก-ความเห็นของผู้ใหญ่เหล่านั้น ซึ่งคำตอบส่วนใหญ่มักเป็นไปในด้านลบต่อกระแสวัฒนธรรมการ์ตูนญี่ปุ่นและ “วัฒนธรรม Y”
ผลสืบเนื่องจากการออกอากาศทำให้เกิดการกระแส “กวาดล้าง” หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น “นิยาย Y” หรือ แม้กระทั่งการแต่งคอสเพลย์เป็นตัวการ์ตูนต่างๆ จนกลุ่มผู้บริโภควัฒนธรรมสายนี้ต้องหลบซ่อนลงใต้ดิน เช่น การส่งต่อนิยายมักจะต้องปิดบังด้วยการห่อหนังสือพิมพ์ หรือการบอกปากต่อปาก ส่วนธุรกิจสิ่งพิมพ์แขนงนี้ต้องชะลอการผลิตออกไป
ช่วงที่สาม เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและสมาร์ตโฟนทำได้ง่ายมากขึ้น กลุ่มผู้บริโภค “วัฒนธรรมสาย Y” ก็ยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้น เมื่อผนวกกับความนิยมในกระแสอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี ที่ทำให้เกิดวัฒนธรรม “คู่จิ้น” และการแต่งนิยายแบบ “แฟนฟิคชัน” (ไม่ต่างจากการรับวัฒนธรรมญี่ปุ่นช่วงทศวรรษ 2530-40)
วัฒนธรรมและอุตสาหกรรม “Y” ของไทย ก็ยิ่งเติบโตและขยับขยายกิ่งก้านสาขาออกไปอย่างน่าทึ่ง

จากปรากฏการณ์เขย่าสื่อและสังคมในปี 2550 ถึง “อุตสาหกรรมส่งออก”
จากการแบ่งช่วงขาขึ้น-ลง ของ “วัฒนธรรม Y” ที่แสดงให้เห็นนั้น จุดน่าสนใจ คือ หลังจากช่วง “หลุมดำ” ของวัฒนธรรมญี่ปุ่น และ “วัฒนธรรม Y” ดำเนินไปเพียง 2 ปี กระแสวัฒนธรรมและธุรกิจดังกล่าวก็ได้กลับคืนสู่ขาขึ้นอีกครั้ง
คำถามสำคัญ คือ อะไรทำให้ “วัฒนธรรมสาย Y” สามารถฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว หลังถูกกวาดล้างจากหน่วยงานรัฐ?
งานวิจัยหลายชิ้นและผู้ศึกษาด้านวัฒนธรรมของสังคมไทย วิเคราะห์คล้ายกันว่าหมุดหมายแห่งความเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ที่ภาพยนตร์เรื่อง “รักแห่งสยาม” (2550, มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล) ซึ่งเริ่มต้น “สั่นคลอน” ภูมิทัศน์สื่อและสังคมไทย
ผ่านการมีตัวละครหลักที่มีความไหลลื่นทางเพศ (gender fluidity) และการได้รับเสียงตอบรับแง่บวกจากสังคม แม้จะมีการตั้งข้อสังเกตว่าการโปรโมตภาพยนตร์ช่วงแรก ไม่ได้ฉายให้เห็นเนื้อเรื่องที่มีตัวละครลื่นไหลทางเพศเป็นประเด็นหลักก็ตาม

ก่อนที่ “ซีรีส์ Y เรื่องแรกของประเทศไทย” คือ “Love Sick The Series: รักวุ่น วัยรุ่นแสบ” จะโด่งดังเป็นกระแสในปี 2557
คงไม่มีใครคาดคิดว่าจากวันที่เคยถูกกวาดล้างหนัก อุตสาหกรรม “สื่อบันเทิง Y” ของไทยจะได้รับความนิยมอย่างสูง และกลายเป็นสินค้าส่งออกไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา โดยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท ภายในเวลาเพียงไม่ถึงสองทศวรรษ
จากการศึกษา “ซีรีส์ Y” ในโครงการวิจัย “โลกของวาย: การดัดแปลงขนบบอยเลิฟญี่ปุ่นในซีรีส์วายไทย” ชี้ให้เห็นว่านอกจากจุดเริ่มต้น “สั่นคลอนภูมิทัศน์สื่อ” ของ “รักแห่งสยาม” ยังมีอีก 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้กระแส “วัฒนธรรม Y” โด่งดังขึ้นในสังคมไทย
ปัจจัยที่หนึ่ง คือ “ความตั้งมั่นของวัฒนธรรมสาว Y” ซึ่งประกอบไปด้วย “วัฒนธรรมอ่าน-เขียน Y” หมายถึงการทั้งบริโภค “วัฒนธรรม Y” และการกลายมาเป็นผู้ผลิตวัฒนธรรมด้วยตัวเอง (เช่น การผันตัวจากคนอ่านมาเป็นคนเขียน เป็นต้น) ของบรรดาวัยรุ่นผู้หญิง ซึ่งเป็นผู้บริโภค-ผู้ผลิตหลักในวัฒนธรรมสายนี้
รวมทั้งวัฒนธรรมการ “จิ้น” ระหว่างตัวละคร และการสร้างสรรค์ “แฟนฟิคชัน”
ปัจจัยที่สอง คือ กระแสทุนนิยมสื่อสารที่ทำให้ทั้งอินเทอร์เน็ตและสมาร์ตโฟนเข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่ได้ และเมื่อพูดถึงในช่วง 2-3 ปีมานี้ ซึ่งมีสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด จนทุกประเทศประกาศมาตรการล็อกดาวน์ แม้บริบทที่ว่าจะส่งผลเสียทางเศรษฐกิจต่อผู้ประกอบการธุรกิจกลุ่มหนึ่ง แต่ก็เปิดโอกาสให้เพิ่มจำนวนการเข้าถึงระบบวิดีโอสตรีมมิ่งออนไลน์ในกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อและต้องกักตัวอยู่ในบ้าน
ทั้งนี้ ระบบวิดีโอสตรีมมิ่งนั้นคือฐานที่มั่นสำคัญในการแพร่กระจายเนื้อหาของ “ซีรีส์ Y ไทย”

ปัจจัยที่สามคือ “โอกาสทางธุรกิจ” งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า “ความตั้งมั่นของวัฒนธรรม Y” ภาวะเติบโตของการเข้าถึงสื่อออนไลน์ รวมทั้งการจุดกระแสจากหนัง “รักแห่งสยาม” เรื่อยมาจนถึงการทวีจำนวนของ “ซีรีส์ Y” ในพื้นที่สื่อกระแสหลัก นั้นค่อยๆ ผลักดันให้ “โอกาสทางธุรกิจ” ของ “วัฒนธรรม Y” เคลื่อนตัวจากการเป็น “ตลาดเฉพาะ” (niche market) ไปสู่การเป็น “วัฒนธรรมมวลชน” (mass culture)
โดย “โอกาสทางธุรกิจ” ข้างต้น ไม่ได้อยู่ที่การแพร่ภาพผ่านสื่อโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ตเพียงองค์ประกอบเดียว แต่ยังรวมถึงการจัดกิจกรรมพบปะระหว่าง “ดารา Y” กับกลุ่มแฟนคลับ อันได้แก่ “สาว Y” และวัยรุ่นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นผู้บริโภคชนชั้นกลางในเมืองที่มีกำลังซื้อ
เมื่อพิจารณาในภาพรวม “วัฒนธรรม Y” ของประเทศไทย จึงยังมีช่องว่างให้ต่อยอดพัฒนาได้ เพราะมีกลุ่มผู้บริโภควัฒนธรรมที่มีความเหนียวแน่นภายในประเทศ และเป็นฐานให้เกิดการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ทั้งหมดนี้ จึงอาจเป็นคำอธิบายเบื้องหลังความสำเร็จส่วนหนึ่งของ “ซีรีส์ Y ไทย”
แม้เรามักเปรียบเทียบวัฒนธรรมภาพยนตร์หรือซีรีส์ของไทยกับประเทศในทวีปเดียวกัน เช่น ญี่ปุ่น หรือ เกาหลี แต่จะเห็นว่ามีปัจจัยหนึ่งที่เป็นแรงผลักดันสำคัญในประเทศอื่นๆ ทว่ากลับหายไปในการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมบันเทิงของประเทศเรา นั่นคือบทบาทการส่งเสริม-สนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ

อนาคต “อุตสาหกรรม Y”
บทบาทและการสนับสนุนจากภาครัฐอยู่ตรงไหนในความสำเร็จของ “ซีรีส์ Y ไทย” ตั้งแต่ช่วงปี 2557 เป็นต้นมา?
คำถามนี้เป็นตัวช่วยให้เราสามารถถอดบทเรียนความสำเร็จและชวนมองอนาคตของ “วัฒนธรรม-อุตสาหกรรม Y ไทย” ได้เป็นอย่างดี
ถ้ามองในเชิงตัวเลข แน่นอนว่าเมื่อพูดถึง “อุตสาหกรรมในเชิงวัฒนธรรม” แล้ว การสร้างภาพยนตร์หรือซีรีส์เรื่องหนึ่งจะนำไปสู่การต่อยอดทางเศรษฐกิจได้หลายส่วน ทั้งในเชิงเศรษฐกิจจากการจ้างงานภายในอุตสาหกรรมเอง หรือจากยอดซื้อขายลิขสิทธิ์ การเติบโตของอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ ธุรกิจอาหาร จนถึงการท่องเที่ยวตามโลเคชันที่ปรากฎในวรรณกรรมนั้นๆ
มูลค่าทางการตลาดของ “คอนเทนต์ Y” ของประเทศไทยในปี 2564 มีมากกว่า 1,000 ล้านบาท จากการส่งออกซีรีส์ไปยังประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และแถบลาตินอเมริกา (อ่าน สัมภาษณ์ สถาพร พานิชรักษาพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GMMTV น่านน้ำสีเลือด สมรภูมิเดือด Red Ocean ตลาดซีรีส์ Y ไทย สู่ตลาดโลก ผ่านมุมมองยักษ์ใหญ่ GMMTV)

โดยในเดือนมิถุนายน 2564 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้จัดงานเจรจาธุรกิจจับคู่ผู้ผลิตคอนเทนต์และบริษัทผู้ซื้อทางออนไลน์ จนอุตสาหกรรมบันเทิงประเภทนี้ทำรายได้สูงถึง 360 ล้านบาท
มูลค่าเหล่านี้ยังไม่นับรวมรายได้ด้านอื่นๆ อาทิ การจัดทริปของบริษัทท่องเที่ยวเพื่อตามรอยสถานที่ในซีรีส์ หรือการจัดแฟนมีตติ้งของศิลปินในประเทศต่างๆ ที่ทำให้เม็ดเงินในอุตสาหกรรมนี้บานสะพรั่ง
แม้มองในภาคธุรกิจแล้วจะเห็นความสดใส แต่หลายเสียงของคนในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์และ “อุตสาหกรรม Y ไทย” จะส่ายหน้าทันที เมื่อถามถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ แม้แต่การจัดงานส่งเสริมการขายดังที่ผู้เขียนเพิ่งยกขึ้นมานั้น ก็เกิดขึ้นในปี 2564 หลังจากที่ “ซีรีส์ Y ไทย” ได้รับความนิยมจากต่างชาติไปแล้วระยะหนึ่ง (หลายปี) ด้วยความเข้มแข็งของภาคเอกชนและความกระตือรือร้นของกลุ่มคนดู
อาจกล่าวได้ว่า การสนับสนุนของภาครัฐต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์และ “ซีรีส์ Y” นั้นดำเนินไปอย่างเบาบาง และยังมีความไม่แน่นอน

ไปจนถึงขั้นที่สะท้อน “ความกระวนกระวาย” ต่อกระแสวัฒนธรรมที่เผยให้เห็นถึงความไหลลื่นทางเพศ ทั้งจากกระแสการ “กวาดล้าง” ในปี 2548 หรือในเดือนพฤษภาคม 2561 ที่มี “การตัดสินใจระงับออกอากาศ” ซีรีส์ Y เรื่อง “บังเอิญรัก” ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ แม้ทีวีช่องนี้จะเคยฉายซีรีส์เรื่อง “Love Sick” ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ของปี 2557 ก็ตาม
จึงอาจเป็นดังการตั้งข้อสังเกตของ “Peter Jackson” นักวิชาการผู้ศึกษาวัฒนธรรม LGBTQ ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย ว่าการเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมประเภทนี้ ในสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่ค่อนไปทางอนุรักษนิยมของภูมิภาค นั้นอาจวางน้ำหนักสำคัญอยู่ตรงกระแสทุนนิยมที่ตั้งอยู่บนฐานกลไกการตลาด นอกจากการพึ่งพาปัจจัยเชิงสังคมด้านอื่นๆ และการผลักดัน-เปิดพื้นที่จากภาครัฐ
แต่ถ้าไทยต้องการจะสร้างรากฐานและต่อยอดอุตสาหกรรมจาก “วัฒนธรรม Y” ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นในอนาคต ก็คงหลีกเลี่ยงจะพูดถึงการสนับสนุนจากภาครัฐไม่ได้เช่นกัน
แหล่งข้อมูลประกอบบทความ
• ข่าวย้อนหลังโดย ‘ศูนย์ข้อมูล มติชน (mic)’
• งานวิจัย ‘ซีรีส์Y: ข้อพิจารณาเบื้องต้นทางสถิติ’ โดย ณัฐธนนท์ ศุขถุงทอง และ ภูวิน บุณยะเวชชีวิน
• ภาคนิพนธ์ ‘การสร้างความหมายและแสดงตัวตนของสาวYในพื้นที่ออฟไลน์และออนไลน์’ โดย นันทิชา ลือพืช
• คมชัดลึกออนไลน์ | https://www.komchadluek.net/news/492699
• Thomas Baudinette, “Lovesick, The Series: adapting Japanese ‘Boys Love’ to Thailand and the Creation of a New Genre of Queer Media” (South East Asia Research)
• Peter Jackson, “Queer Bangkok: 21st Century Markets, Media, and Rights (Hong Kong University Press)
• Bangkok Post | https://www.bangkokpost.com/business/2305042/asia-falls-in-love-with-thai-boys-love
• Nikkei Asia | https://asia.nikkei.com/Business/Media-Entertainment/Thailand-s-boys-love-dramas-stealing-hearts-around-the-world
• Kyodo News | https://english.kyodonews.net/news/2022/06/b80956bb7d10-feature-thailand-betting-on-dramatic-boys-love-tourism-boom.html
• The Matter | https://thematter.co/social/manga-darkera/143926