ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่ประเทศไทย เสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน Specialized Expo 2028 กลายเป็นประเด็นที่ดังกระหึ่ม เป็นที่รับรู้ไปทั่วประเทศจากการเดินทางลงพื้นที่ครั้งล่าสุดของ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันก็ดึงดูดให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับการจัดงานดังกล่าวมากขึ้น นอกเหนือไปจากการร่วมลุ้นการตัดสินในวันที่ 21 มิถุนายน 2566 นี้ว่าประเทศไทยจะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่ ทั้งในแง่มุมว่า งานนี้คืออะไร มีความหมายมีความสำคัญขนาดไหน ประเทศที่เป็นเจ้าภาพจะได้ประโยชน์ ได้โอกาสอะไรบ้าง
ในโอกาสนี้ขอชวนมาสำรวจข้อมูล ทำความรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับ Specialized Expo 2028 ในแง่มุมต่างๆ ไปพลางๆ ก่อนแล้วค่อยร่วมกันฉลองให้เต็มที่ ถ้าผลการตัดสิน 21 มิถุนายน ประเทศไทยได้รับการโหวตให้เป็นเจ้าภาพจริงๆ
1.งาน Specialized Expo 2028 คืออะไร ?
ง่ายๆ คืองาน World Expo ขนาดย่อส่วนนั่นเอง งาน World Expo มีองค์การนิทรรศการนานาชาติ หรือ Bureau International des Expositions (BIE) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ เป็นเจ้าของ จัดงานทุกๆ 5 ปี ประเทศที่ได้รับการคัดเลือกจะเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงบูทของประเทศต่างๆ นาน 6 เดือน ส่วนงาน Specialized Expo 2028 อยู่ภายใต้องค์กรเดียวกันแต่ขนาดงานเล็กกว่า ประเทศที่ได้รับการคัดเลือกจะเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงบูทของประเทศต่างๆ นาน 3 เดือน
2.จะได้เป็นเจ้าภาพต้องทำอย่างไร ?
ประเทศที่ต้องการเป็นเจ้าภาพต้องเสนอแผนงานต่อ Bureau International des Expositions (BIE) เมื่อผ่านเกณฑ์การพิจารณาก็จะได้เข้ารอบมาเป็นลำดับ จากนั้นประเทศที่เป็นแคนดิเดตจะต้องนำเสนอข้อมูล ประชาสัมพันธ์ โน้มน้าวประเทศสมาชิกให้ลงคะแนน รอบสุดท้าย (วันที่ 21 มิ.ย.2566) ชาติสมาชิก 124 ชาติ (ที่ได้สิทธิ์ลงคะแนน จากสมาชิกทั้งหมด 172 ชาติ) จะลงคะแนนให้กับแคนดิเดต 5 ประเทศคือ ไทย, สหรัฐอเมริกา, สเปน, เซอร์เบีย และอาร์เจนตินา
3.ประเทศไทยพร้อมมากขนาดไหน ?
ประเทศไทยมีแผนงานในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพงาน งาน Specialized Expo 2028 โดย กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงภาคเอกชนจังหวัดภูเก็ตร่วมกันผลักดัน จนได้รับการอนุมัติจาก คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2564 จากนั้นได้ดำเนินงานเตรียมความพร้อม ทั้งในด้านการจัดประชุม เตรียมสถานที่ ฯลฯ
4.ถ้าได้รับเลือกต้องทำอะไรบ้าง ?
รัฐบาลและส่วนงานต่างๆ จะต้องลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ อาทิ การขยายถนนน อุโมงค์ป่าตอง สร้างระบบรถไฟฟ้ารางเบาเพื่อรองรับการเดินทางในจุดต่างๆ ขยายโครงข่ายถนน ฯลฯ โดยจะมีการลงทุน 4,180 ล้านบาท สำหรับการจัดงาน โดยยังไม่รวมอีก 1,400 ล้านบาท สำหรับ โครงการ Medical Plaza ซึ่ง โรงพยาบาลวชิระ ภูเก็ต เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ
5.เป็นเจ้าภาพแล้วมันดีอย่างไร ?
คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนกว่า 49,000 ล้านบาท, สร้างตัวเลข GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 39,000 ล้านบาท, มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 4.9 ล้านคนในช่วงเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึง การสร้างภาพลักษณ์ในเชิงการแพทย์สมัยใหม่ให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก, เกิดศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ, กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ, เพิ่มการจ้างงาน, เสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการจัดอีเวนต์ขนาดใหญ่ระดับโลก ฯลฯ