ในปัจจุบันพลังงานที่สะอาดมากยิ่งขึ้น มักจะเข้ามาเป็นตัวเลือกแรกของผู้บริโภค ในปัจจุบันการหันหน้ามาใช้งานรถยนต์น้ำมันที่น้อยลง และหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มากยิ่งขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เราสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนไปใช้งานรถยนต์ Hybrid, รถยนต์ Plug-in Hybrid และรถยนต์ไฟฟ้าล้วนเป็นต้น
แต่เหล่านี้เองก็ยังคงเป็นคำถามว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นสะอาดจริงหรือเปล่า จากข้อกล่าวหาที่ว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นการทำให้ในเมืองสะอาดมากยิ่งขึ้น แต่ในเขตที่เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า กลับเกิดสร้างมลพิษขึ้นแทน ในปัจจุบันจึงมีความพยายามไม่น้อยที่จะสร้าง รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานที่ไม่ต้องมีมลพิษตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาของ รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จนสามารถวิ่งได้จริงแล้ว
นักศึกษามหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (UNSW Sydney) ได้สร้างรถยนต์ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ชื่อว่า Sunswift 7 เพื่อทำลายสถิติ Guinness World Record รถยนต์ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่สามารถวิ่งได้ระยะทาง 1,000 กิโลเมตรด้วยการชาร์จไฟเต็มเพียง 1 ครั้งโดยใช้เวลาน้อยที่สุดในโลก
การทำลายสถิติดังกล่าวมีขึ้นที่ศูนย์วิจัยยานยนต์แห่งออสเตรเลีย (Australian Automotive Research Centre) โดยรถ Sunswift 7 สามารถวิ่งได้ระยะทาง 1,000 กิโลเมตรด้วยเวลา 11 ชั่วโมง 52.08 นาที ซึ่งพวกเขาต้องวิ่งวนรอบสนามถึง 240 รอบ และระหว่างทาง พวกเขาจะคอยเปลี่ยนตัวคนขับทุกๆ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งหากนำเวลามาคำนวนความเร็วเฉลี่ยของรถคันนี้จะได้ที่ราวๆ 85 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งการทำลายสถิติในครั้งนี้ได้รับการบันทึกโดย Guinness World Record ในหมวดหมู่รถไฟฟ้าที่สามารถวิ่งได้ 1,000 กม. ในการชาร์จไฟเพียง 1 ครั้งด้วยเวลาที่น้อยที่สุดในโลก
ดีไซน์ภายนอกของ Sunswift 7 จะเน้นรูปทรงที่มีหลักอากาศพลศาสตร์ที่ดีที่สุด รวมถึงน้ำหนักต้องเบาเป็นพิเศษ โดยมีน้ำหนักรวมเพียงแค่ราวๆ 500 กิโลกรัมเท่านั้น (รถไฟฟ้าส่วนมากจะมีน้ำหนักราวๆ 1,700 – 2,200 กิโลกรัม) ส่งผลให้รถคันนี้ใช้พลังงานเพียงแค่ 3.8 kWh ต่อระยะทาง 100 กิโลเมตร ซึ่งรถไฟฟ้าโดยเฉลี่ยแล้วจะใช้พลังงานราวๆ 20 kWh ต่อระยะทาง 100 กิโลเมตร
เรียกได้ว่าไม่ธรรมดาเลย สำหรับฝีมือของนักศึกษากลุ่มนี้ ที่สร้างรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์คันนี้ขึ้นมา และมันจะเป็นต้นแบบในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต รวมถึงระบบแผงโซลาร์เซลล์ที่ให้พลังงานกับรถคันนี้ อาจถูกนำมาใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าก็เป็นได้
แหล่งที่มาและข้อมูล : UNSW
ติดตามข่าวสารนวัตกรรมและยานยนต์ที่ FEE:D