“คริส สิงโต ถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาโมเดลอุตสาหกรรมวายไทย กิจกรรมที่ GMMTV ทำนอกเหนือจากการสร้างซีรีส์แล้วก็คือการทำแฟนมีต ซึ่งเริ่มต้นจาก SOTUS The Series”
โปรเจกต์พิเศษ 10 ปี 10 ซีรีส์วายไทย เจาะลึกประเด็นสังคม วัฒนธรรมการเมือง พลวัตวายไทยและวายข้ามชาติผ่านมุมมองของ นัทธนัย ประสานนาม อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งขณะนี้กำลังรอโปรดเกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์ จากผลงานทางวิชาการด้าน Boys’ Love คนแรกของประเทศ EP 2 Sotus The Series พี่ว๊ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง
10 ปี 10 ซีรีส์วายไทย X นัทธนัย ประสานนาม EP 2 Sotus The Series พี่ว๊ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง
SOTUS The Series พี่ว๊ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง ออกอากาศในปี 2559 ดัดแปลงมาจากนวนิยายของ BitterSweet บอกเล่าเรื่องราวความรัก และมิตรภาพ ที่เกิดขึ้นจากการรับน้องในคณะวิศวกรรมศาสตร์ภายในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ผ่านประสบการณ์ของ ก้องภพ นักศึกษาปี 1 รับบทโดย สิงโต-ปราชญา เรืองโรจน์ และหัวหน้าหรือเฮดว๊าก พี่อาทิตย์ รับบทโดย คริส-พีรวัส แสงโพธิรัตน์
นัทธนัย กล่าวว่า SOTUS The Series พี่ว๊ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง เป็นซีรีส์ที่เดินตามโมเดลอุตสาหกรรมวาย คือการดัดแปลงนวนิยายวายให้เป็นซีรีส์ร่วมกับการสร้างนักแสดงที่เป็นคู่วาย นวนิยายต้นฉบับเขียนขึ้นก่อนมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงปลายทศวรรษ 2550 ในประเด็นอภิสิทธิ์ที่เกี่ยวกับความงาม หรือว่า Beauty Privilege และการรับน้องที่รุนแรง หรือ ระบบโซตัส ว่าเป็นอำนาจนิยมรูปแบบหนึ่งที่อยู่ในมหาวิทยาลัย แต่ระบบการรับน้องที่มีพี่รหัสน้องรหัส กลับเป็นสิ่งที่ผู้ชมในวัฒนธรรมอื่นๆ ไม่คุ้นเคย และกลายเป็นสเน่ห์ได้การตอบรับอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและนานาชาติ เช่น ถ้าไปถามชาวญี่ปุ่นว่าซีรีส์วายในดวงใจของเขามีกี่เรื่องและคือเรื่องอะไรบ้าง เชื่อว่าคำตอบส่วนใหญ่จะตอบตรงกันว่ามี 2 เรื่อง เรื่องแรกก็คือ SOTUS The Series และเรื่องที่สองก็คือเพราะเราคู่กัน 2gether The Series
เนื้อหาใน SOTUS The Series เกิดขึ้นระหว่างการรับน้องจนกระทั่งความสัมพันธ์ของทั้งสองตัวละครได้ลงเอยกันในช่วงปลายของซีซั่นแรก ส่วนภาคต่อ SOTUS S The Series ซึ่งออกมาในช่วงปลายปี 2560 แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของตัวละครสองตัวนี้ที่พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งก็คือพี่อาทิตย์ คริส-พีรวัส เรียนจบและทำงานในบริษัทแห่งหนึ่ง ขณะที่ ก้องภพ สิงโต-ปราชญา ขึ้นปี 3 มหาวิทยาลัย และเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมประชุมเชียร์ และทั้งสองก็มีช่วงเวลาที่มาใช้ชีวิตร่วมกัน แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือตัวละครทั้งสองจะยอมรับให้ความสัมพันธ์เป็นที่รับรู้ของสังคมได้หรือไม่ แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็จับมือกันและลงเอยอย่างมีความสุข
สำหรับ SOTUS The Series ผลิตโดย GMMTV ผู้เล่นสำคัญของอุตสาหกรรมวายไทยในปัจจุบัน เป็นบริษัทที่ผลิตเนื้อหาหรือคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นมาก่อนแล้ว ก่อนที่จะมี SOTUS The Series ซึ่งเป็นความพยายามในการทดลองสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ หลังจากที่มีการทดลองตลาดดังกล่าวโดยบริษัทอื่นๆ แล้ว อย่างเช่นกรณีการสร้าง Love Sick The Series ที่กล่าวถึงไปใน EP 1 ในช่วงปี 2558-2559 ก็ยังมีซีรีส์เรื่องอื่นๆ เช่นรักออกเดิน Make It Right ซึ่งทำตลาดได้ดีเช่นกัน ดังนั้นจึงน่าจะเป็นปัจจัยผลักดันอันหนึ่งที่ทำให้ GMMTV เข้ามาร่วมเป็นผู้เล่นในสนามนี้
การสร้างเคมี

นัทธนัย ยังให้ความเห็นว่า SOTUS The Series ได้การตอบรับอย่างดีมากทั้งจากแฟนไทยและนานาชาติ สิ่งหนึ่งที่ดึงดูดใจคือความสนใจใคร่รู้คือชีวิตในมหาวิทยาลัยของไทย การรับน้องระบบโซตัสซึ่งไม่ค่อยพบในวัฒนธรรมอื่นๆ และสิ่งสำคัญคือเคมีระหว่างนักแสดงนำทั้งสองคน ซึ่งจุดเริ่มต้นของคริส สิงโต ก็คือเขาสองคนเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันจริงๆ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรับน้องด้วย การแสดงของเขาทั้งสองคนจึงมีส่วนสัมพันธ์กับบทบาทในชีวิตจริงที่มีความคุ้นเคยกันมาก่อน มีความเป็นธรรมชาติด้วยความสนิทสนมที่มีต่อกัน
“การสร้างเคมีนักแสดงจึงเป็นจุดสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมวายไทย เพราะการแคสติ้งนักแสดงไม่ใช่ว่าเราจะเลือกนักแสดงคนใดมาแสดงคู่กันก็ได้ แต่ว่าเราจำเป็นต้องทดสอบเคมี ความสัมพันธ์ชิดใกล้ของสองคนนี้ว่ามีความเป็นธรรมชาติ หรือว่าทำให้เชื่อได้หรือไม่ว่าตัวละครมีความสัมพันธ์กันจริงตามเนื้อเรื่องในซีรีส์ เพราะฉะนั้นจึงนำมาสู่โมเดลอันหนึ่งของอุตสาหกรรมวายไทยก็คือการเป็นคู่จิ้นกันนั่นเอง”
คริส สิงโต ถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาโมเดลอุตสาหกรรมวายไทย กิจกรรมที่ GMMTV ทำนอกเหนือจากการสร้างซีรีส์แล้วก็คือการทำแฟนมีต ซึ่งเริ่มต้นจากกลุ่มนักแสดงจาก SOTUS The Series กิจกรรมแฟนมีตที่อาจนับว่าเป็น Spin-Off หรือส่วนต่อขยายของซีรีส์เรื่องนี้ก็จัดในต่างประเทศหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ต่างๆ ในโลกที่พูดภาษาจีน หรือว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีนักแสดงของ GMMTV จาก SOTUS The Series ไปปรากฏตัว เพราะฉะนั้นในการพัฒนาอุตสาหกรรมวายจึงไม่ได้ขายเพียงเนื้อหาของซีรีส์ แต่ว่าเราจะต้องพัฒนานักแสดงในฐานะส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่ผู้ชมจะมีส่วนในการเสพแล้วก็เอาไปขยายผลด้วยตนเอง หรือว่าจิ้นต่อ การมีการแฟนด้อม บ้านต่างๆ ขึ้นมา สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากการพิจารณาที่เคมีของนักแสดงเป็นสำคัญ
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมวายขยายตัวมาก นอกเหนือจากการปรากฏขึ้นของโทรทัศน์ดิจิทัล ก็คือการใช้โซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ในการผลิตคอนเทนต์เกี่ยวกับซีรีส์วาย เราจะเห็นการขยายผลของเนื้อหาของซีรีส์ไปปรากฏในโซเชียลมีเดียแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น X , YouTube และ TikTok การขยายตัวของเนื้อหาแสดงให้เห็นว่าผู้ชมสามารถเข้าถึงเนื้อหา เคมีของนักแสดง ได้ตามช่องทางต่างๆ และสามารถเอาไปจิ้นต่อโดยการสร้างบทของแฟนอาร์ต หรือแฟนฟิกได้ ซึ่งอันนี้มันแสดงให้เห็นความพยายามในการทำงานร่วมกัน ของอุตสาหกรรมกับกลุ่มแฟน และมีผลให้อุตสาหกรรมนี้พัฒนามากขึ้นในช่วง 10 ปี และเป็นโมเดลที่บริษัทอื่นๆ นอกเหนือจาก GMMTV นำไปขยายผลต่อด้วย
โมเดลการขยาย Fanbase
ประเด็นของ SOTUS The Series ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือการพัฒนาโมเดลของการขยายฐานแฟนต่างชาติ เราจะพบในซีรีส์เรื่องนี้อย่างมาก เพราะว่าหลังจากที่ซีรีส์ออกอากาศไปสักระยะหนึ่ง ก่อนที่จะเข้าสู่ภาคของ SOTUS S The Series มีการทำมิวสิกวิดีโอที่เป็นเนื้อภาษาจีน แสดงให้เห็นว่าผู้สร้างหรือบริษัทมองเห็นศักยภาพของตลาดในโลกที่พูดภาษาจีน ส่วนตลาดที่อยู่ในประเทศอื่น อย่างเช่นตลาดในญี่ปุ่นก็ถือว่าเริ่มต้นจาก SOTUS The Series ด้วยเหมือนกัน สำหรับแฟนชาวญี่ปุ่น SOTUS The Series และคู่คริส – สิงโต เปรียบเสมือนบ้านของเขา เพราะว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการติดตามซีรีส์วายไทยของแฟนหลายคน เมื่อ คริส – สิงโตกลับมาทำงานด้วยกันอีกครั้ง โซเชียลมีเดียของญี่ปุ่นก็ขานรับอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งถึงปัจจุบัน สินค้าอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจและถือว่าเป็น Spin-Off แบบหนึ่งในจักรวาลของ SOTUS The Series ก็คือผลิตภัณฑ์ Photobook ที่บริษัทต้นสังกัด GMMTV ผลิต ที่เป็นคู่คริส-สิงโตมีต่อเนื่องมา 3 ฉบับ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีอย่างมาก ความโด่งดังของ คริส – สิงโต ยังวัดได้จากนักแสดงสองคนนี้ไปขึ้นปกนิตยสาร attitude ซึ่งเป็นนิตยสารเกย์จากอังกฤษ 2 ฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉบับแรกขายดีมาก ปัจุจบันเป็นแรร์ไอเท็ม
ความสำเร็จของ SOTUS The Series ทำให้อุตสาหกรรมมองเห็นศักยภาพของนักแสดงวายในการที่จะพัฒนาต่อยอดไปหลายๆ ด้าน เราจะเห็นว่าในช่วงที่ SOTUS The Series ออกมา ยังมีซีรีส์เรื่องอื่นๆ ที่ GMMTV ผลิต แต่ว่าคู่วายไปปรากฏในลักษณะแฝงยังไม่ปรากฏเป็นตัวละครเอก และก็มีการสร้างตอนพิเศษโดยมีสินค้ามาสนับสนุนให้สร้าง แล้วก็โฆษณาแฝงเข้าไป
ความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมซีรีส์ และหนังสือ
นอกจากนี้ อาจารย์นัทธนัย กล่าว่าในกรณี SOTUS The Series มีจุดที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือการเชื่อมโยงกันระหว่างการผลิตซีรีส์กับอุตสาหกรรมหนังสือ โดยพบว่า SOTUS S The Series ไม่ได้สร้างจากนวนิยายที่เขียนเสร็จแล้ว แต่ว่าเกิดจากการพัฒนาบทของซีรีส์ก่อน แล้วถึงนำไปทำเป็นนวนิยาย โดยที่ผู้เขียน BitterSweet มีส่วนในการพัฒนาบทดังกล่าวด้วย
ในการเชื่อมกันระหว่างอุตสาหกรรมหนังสือกับอุตสาหกรรมซีรีส์ ยังมีตัวอย่างที่เห็นชัดเจนอีกอย่างหนึ่งในช่วงงานเทศกาลหนังสือในยุคต่อมานักแสดงนำของซีรีส์จะไปปรากฏตัวทั้งบนเวทีเสวนาเพื่อเปิดตัวหนังสือ ช่วยส่งเสริมการขายหนังสือ รวมทั้งปรากฏตัวที่บูธขายหนังสือด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเกื้อหนุนกันระหว่างอุตสาหกรรมหนังสือและอุตสาหกรรมซีรีส์ โดยที่อุตสาหกรรมหนังสือหรือว่านวนิยายวายยังเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตซีรีส์วายถึงปัจจุบัน