ด้วยอัตราการเกิดที่น้อยลงของโลกในปัจจุบัน ส่งผลต่อการมีคู่ในหลายด้าน ทั้งด้านความสัมพันธ์ และด้านสังคม โดยอาจทำให้การหาคู่ยากขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้ที่พร้อมจะมีคู่ลดลง และอาจส่งผลต่อค่านิยม และรูปแบบความสัมพันธ์ในอนาคต ดังนั้นในยุคนี้ผู้คนจึงเลือกที่จะโสดมากขึ้นกว่าคนในยุคก่อนโดยมีหลายปัจจัยซับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และค่านิยมของผู้คน ซึ่งแต่ละเจเนอเรชันก็มีความเห็น และคำนิยามความรักที่แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ และสภาพแวดล้อมของสังคมที่เปลี่ยนไปในทุกยุคทุกสมัย

นิยามความรักของ คนรุ่น Baby Boomer (กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2489-2507) มักเกี่ยวข้องกับการแต่งงาน และการสร้างครอบครัว พวกเขามักให้ความสำคัญกับความรักแบบโรแมนติก มองความรักในระยะยาว และความมั่นคงในชีวิตแต่งงาน พวกเขาเติบโตมาในยุคที่สังคมให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว และเชื่อว่าความรักเป็นสิ่งสวยงามที่ควรค่าแก่การรักษา คนรุ่นนี้มักมีความอดทนสูง และให้ความสำคัญกับความภักดีต่อคู่ชีวิต แต่ Baby Boomer คือกลุ่มที่มีสถิติการหย่าสูงที่สุด เพราะหลายคู่แต่งงานโดยที่ไม่รู้ว่ารักกันแน่แค่ไหน และอีกหลายคู่ก็ใช้วิธีแยกกันอยู่โดยไม่จดทะเบียนหย่า และต่างฝ่ายต่างก็ไปหาคนที่ตนพึงใจโดยไม่มีการแต่งงานซ้ำอีกรอบ ในขณะที่อีกหลายคู่ไม่ได้เหลือใจให้กันอีกแล้ว แต่ต่างอยู่เพื่อให้ลูกได้สบายใ
สำหรับ Gen X (กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2508-2522) นิยามความรัก คือการสร้างความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม และมั่นคง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความรักด้วยมือของตนเอง พวกเขาเติบโตมาในยุคที่เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และอัตราการหย่าร้างที่สูงขึ้น พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับการประคับประคองความสัมพันธ์ให้ยั่งยืน คนเจเนอเรชันนี้ เชื่อว่าความรักต้องถูกสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจ และความพยายามของทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และคุ้นเคยกับการหย่าร้างเป็นอย่างดี พวกเขาไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหา แต่มองว่ามันคือการใช้ชีวิตที่ต้องหาจุดที่ลงตัวให้ได้ และนั่นทำให้คนในเจเนอเรชันนี้มีสถิติการหย่าร้างน้อยลง

ความรักของคน Gen Y หรือ Millennials (กลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2523 – 2540) มักถูกมองว่าให้ความสำคัญกับอิสระ และความเป็นตัวเอง มองความรักเป็นเรื่องของความรู้สึกที่แท้จริง ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับขนบธรรมเนียม และให้ความสำคัญกับการสื่อสาร และการทำความเข้าใจกัน คนเจเนอเรชันนี้
มีแนวโน้มที่จะเปิดรับความสัมพันธ์ที่หลากหลาย รวมถึงการอยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงาน
ความรักของคน Gen Z (กลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2540 – 2552) ในปัจจุบันเน้นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม จริงใจ และให้เกียรติกัน คนเจเนอเรชันนี้ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์แบบ “Situationship” ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่มากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่แฟน นอกจากนี้ Gen Z ยังให้ความสำคัญกับการเป็นตัวเอง การมีสุขภาพจิตที่ดี และการสื่อสารที่เปิดเผย ตรงไปตรงมา ไม่ยึดติดกับรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบความสัมพันธ์แบบเดิมๆ ไม่ได้ยึดติดอยู่กับคนเชื้อชาติเดียวกับตนเองอีกต่อไป แต่เป็นความรักที่สามารถเกิดได้กับทุกคนบนโลก
นิยามความรักของแต่ละ Gen ได้ฉายภาพให้เห็นถึงสภาพสังคมในยุคที่คน Gen นั้นเติบโตมา รวมถึงประสบการณ์ชีวิตของกลุ่มคนในเจเนอเรชันนั้นๆ ดังนั้น นิยามความรักของผู้คนแต่ละเจเนอเรชันจึงมีผลอย่างมากต่อการที่คนเลือกที่จะเป็นโสดมากขึ้นในปัจจุบัน ดังนี้

– ผู้คนยุคปัจจุบันให้ความสำคัญกับอิสระและชีวิตส่วนตัว (Personal Autonomy and Freedom)
คนยุคใหม่ให้ความสำคัญกับความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก ต้องการมีอิสระในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงิน การเดินทาง การทำงานอดิเรก หรือการใช้เวลาส่วนตัว โดยไม่ต้องปรับตัวหรือประนีประนอมกับใคร ดังนั้นการมีคู่บางครั้งอาจทำให้รู้สึกถูกจำกัดอิสระเหล่านี้ลงไป
– ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและบทบาทของผู้หญิง (Economic Independence, especially for Women) ในอดีต ผู้หญิงมักถูกคาดหวังให้แต่งงานเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แต่ในปัจจุบัน ผู้หญิงมีการศึกษา และบทบาทในหน้าที่การงานที่สูงขึ้น ทำให้พวกเขาสามารถพึ่งพาตัวเองได้ทางการเงิน ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชายอีกต่อไป และหลายคนเลือกที่จะทุ่มเทให้กับอาชีพการงานก่อนความสัมพันธ์
– ค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนไป (Evolving Social Norms) การเป็นโสดไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติหรือน่าอับอายอีกต่อไป สังคมเปิดกว้างและยอมรับการใช้ชีวิตหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ทำให้คนโสดไม่ต้องรู้สึกกดดันจากแรงกดดันทางสังคมเหมือนในอดีต นอกจากนี้ สื่อสังคมออนไลน์ยังแสดงให้เห็นถึงไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของคนโสดที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ทำให้ภาพลักษณ์ของการเป็นโสดเป็นไปในเชิงบวกมากขึ้น
– ประสบการณ์จากความสัมพันธ์ที่ล้มเหลว (Past Negative Relationship Experiences)
หลายคนอาจเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีจากความสัมพันธ์ที่ผ่านมา เช่น การอกหัก การหย่าร้าง หรือการเห็นปัญหาความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง ทำให้เกิดความรู้สึกกลัวที่จะเจ็บปวดซ้ำๆ หรือไม่อยากเผชิญกับความยุ่งยากในความสัมพันธ์
– ความคาดหวังที่สูงขึ้นในการเลือกคู่ (Higher Expectations for a Partner) คนยุคใหม่มีแนวโน้มที่จะมี “สเปก” ในการเลือกคู่ที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฐานะ การศึกษา ไลฟ์สไตล์ หรือทัศนคติ ทำให้การหาคนที่ “ใช่” จริงๆ ยากขึ้น และหลายคนยอมที่จะโสดดีกว่าที่จะต้องอยู่กับคนที่ไม่ตอบโจทย์
– ปัญหาเศรษฐกิจและค่าครองชีพ (Economic Pressures and Cost of Living) ค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงภาระทางการเงินอื่นๆ เช่น หนี้สิน การผ่อนบ้าน ทำให้หลายคนรู้สึกว่าการสร้างครอบครัวเป็นภาระที่หนักอึ้งและยังไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบ จึงเลือกที่จะเป็นโสดไปก่อน
– การให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเอง (Focus on Self-Improvement) คนยุคใหม่จำนวนมากให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเอง ทั้งในด้านการศึกษา การงาน หรือทักษะต่างๆ การเป็นโสดทำให้พวกเขามีเวลาและพลังงานที่จะโฟกัสกับเป้าหมายเหล่านี้ได้เต็มที่ โดยไม่ต้องแบ่งเวลาหรือพลังงานไปดูแลความสัมพันธ์

สุดท้ายแล้วการที่คนยุคนี้เลือกที่จะโสดมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายในสังคม ทำให้มุมมองและความต้องการในการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลแตกต่างไปจากเดิม นิยามความรักในยุคปัจจุบันที่เน้นความเป็นปัจเจกบุคคล มีความคาดหวังที่สูงขึ้น ให้ความสำคัญกับความสุขของตัวเองเป็นหลัก และความยืดหยุ่นในรูปแบบความสัมพันธ์ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนแต่ละ Gen ในปัจจุบันเลือกที่จะใช้ชีวิตโสดมากขึ้น เพราะการเป็นโสดตอบโจทย์ค่านิยม และความต้องการในแบบของพวกเขาได้