เจาะความสำเร็จของเยอรมนีที่เริ่มจากการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและสร้างระบบนิเวศการอ่าน ฟินแลนด์กับการส่งเสริมการแปลและส่งออกวรรณกรรมสู่ทั่วโลก เกาหลีใต้ปลุกงานวรรณกรรมให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ อังกฤษกับการสร้างเมืองวรรณกรรม พร้อมบทเรียนที่ไทยสามารถปรับใช้
“หนังสือหนึ่งเล่มสามารถเดินทางข้ามพรมแดน เชื่อมโยงผู้คนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม และสร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร้ขีดจำกัด” และ “เราจะเรียนรู้ข้ามพรมแดน มองกรณีศึกษาต่างประเทศในด้านการสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังสือ การส่งเสริมการอ่าน แล้วนำมาปรับใช้เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือ
สร้างระบบนิเวศการอ่าน และพัฒนาห้องสมุดของประเทศไทย ได้อย่างไร”

นี่คือที่มาของการประชุมออนไลน์ TK Forum 2025 ในธีม “Books Without Borders” ซึ่งผ่านพ้นไปไม่นานมานี้
โดยเชิญตัวแทนจาก 5 องค์กรชั้นนำด้านวรรณกรรมและการส่งเสริมการอ่านจากประเทศเยอรมนี สหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ และเกาหลีใต้ มาร่วมถ่ายทอดมุมมอง แนวคิด กลยุทธ์การส่งเสริมการอ่าน และการพัฒนาอุตสาหกรรมหนังสือ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ สร้างการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน สังคม ไปจนถึงระดับประเทศ สร้างความภาคภูมิใจระดับชาติ และเชื่อมโยงสู่โอกาสระดับโลก
ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่วัยเยาว์
แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วที่มีระบบการศึกษาที่เข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป แต่หลายคนอาจต้องประหลาดใจเมื่อ ดร. ยอร์ก เอฟ มาส (Dr.Jörg F. Maas) ผู้จัดการมูลนิธิการอ่าน Stiftung Lesen ประเทศเยอรมนีเปิดเผยว่ามีเด็กเยอรมันถึง 1 ใน 4 ที่จบชั้นประถมศึกษาไม่สามารถอ่านและเขียนได้อย่างถูกต้อง ผู้ใหญ่ 12% ก็ยังอ่านเขียนได้ไม่คล่อง ผู้ปกครอง 32% ไม่เคยอ่านหนังสือให้ลูกฟัง เด็ก 1 ใน 5 ไม่เคยมีใครอ่านหนังสือให้ฟังที่บ้านมาก่อน และที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือสถานการณ์เหล่านี้ฝังรากลึกอยู่คู่กับสังคมเยอรมันมานานกว่า 30 ปี จนถึงทุกวันนี้ก็ยังแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ดร.ยอร์ก เชื่อว่า “หากเด็กคนหนึ่งอ่านหนังสือไม่ออกตั้งแต่อายุยังน้อย เขาอาจพลาดโอกาสในชีวิต ทั้งด้านการศึกษา การทำงาน การเข้าใจโลก และการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม” นี่เองจึงทำให้มูลนิธิการอ่านแห่งเยอรมนี
มีภารกิจสำคัญระดับชาติคือการทำให้ชาวเยอรมันทุกคน “อ่านออก เขียนได้” เพื่อเป็นใบเบิกทางไปสู่การศึกษาที่ดีและมีหน้าที่การงานที่มั่นคงในอนาคต พร้อมกำหนด 3 เป้าหมายระดับชาติว่า ภายในปี 2030 เยอรมนีจะต้อง 1. เพิ่มจำนวนพ่อแม่ที่อ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นประจำได้มากขึ้น 2. สร้างความร่วมมือกับศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน 50,000 แห่ง และโรงเรียนประถม
23,000 แห่ง เพื่อสร้างเครือข่ายส่งเสริมการอ่านที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมทั่วประเทศ 3. เพิ่มอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านจาก 150,000 คน เป็น 1 ล้านคน มูลนิธิการอ่านฯ จึงเดินหน้าปูพรมสร้างระบบนิเวศการอ่านอย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่ที่บ้าน โรงเรียน และค่อยๆ ขยายไปสู่สังคมที่กว้างขึ้นตั้งแต่ชุมชนไปจนถึงระดับชาติ

โดยดำเนินการผ่าน 5 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ 1. มอบหนังสือเป็นของขวัญ ตั้งแต่ โครงการมอบหนังสือเล่มแรกสำหรับเด็กแรกเกิด ให้กับครอบครัวที่คลอดลูก ณ คลินิกหรือสถานพยาบาลทั่วประเทศ แจก Free Stories ผ่านแอปพลิเคชัน Reading Aloud คัดสรรหนังสือแนะนำที่เหมาะสมตามช่วงวัยสำหรับเด็กอายุ 3, 5 และ 7 ขวบ เพื่อสนับสนุนให้เด็กๆ ฝึกฝนทักษะทางภาษาผ่านการอ่านออกเสียง แคมเปญแจกหนังสือฟรีให้แก่เด็กเล็กทั่วประเทศผ่านเครือข่าย “หมอเด็ก” สำหรับพ่อแม่ที่พาลูกอายุ 1–3 ขวบไปตรวจสุขภาพ ไปจนถึงการนำเทคโนโลยี เช่น AR, VR, AI มาช่วยส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กที่อ่านไม่คล่อง เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อการอ่านที่มีคุณภาพได้ง่ายและฟรี
2. จัดแคมเปญระดับชาติ เช่น กิจกรรมเนื่องในวันหนังสือโลก (World Book Day) วันที่ 23 เมษายนของทุกปี
โดยแจกคูปองแลกหนังสือฟรีให้เด็กระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4–5 ทั่วประเทศ วันอ่านออกเสียงแห่งชาติ (National Reading Aloud Day) ชวนอาสาสมัครร่วมกันอ่านหนังสือให้เด็กฟังตามศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนประถม เพื่อเปิดโลกของภาษา และเรื่องเล่า เสริมสร้างจินตนาการให้แก่เด็กๆ ซึ่งปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 1.2 ล้านคน
3. จัดทำพอร์ทัลและบริการออนไลน์ ศูนย์รวมข้อมูล องค์ความรู้ และบริการส่งเสริมการอ่านสำหรับอาสาสมัคร ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก และโรงเรียนระดับประถมศึกษาทั่วประเทศ 4. การมอบรางวัลประจำปี German Reading Awards ให้แก่บุคคล องค์กร ชุมชน ที่มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนการอ่าน 5. สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เช่น การเชิญผู้มีชื่อเสียงจากหลากหลายวงการมาเป็นทูตส่งเสริมการอ่าน และร่วมมือกับภาคเอกชนจัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน เช่น ร่วมกับแมคโดนัลด์แจกหนังสือเด็กในชุด Happy Meal ร่วมกับ Porche และ Lancôme จัดกิจกรรมสนับสนุนการศึกษาและส่งเสริมการอ่านในชุมชนใกล้โรงงาน
การส่งเสริมวรรณกรรมคือการลงทุนที่ล้ำค่าในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
“เมื่อใดที่เมืองโอบรับมรดกทางวรรณกรรม ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ บ่มเพาะนักเขียนและนักอ่าน เมืองนั้นไม่ได้ลงทุนแค่หนังสือ แต่เป็นการลงทุนในผู้คน”

แอนนา โคห์น ออร์ชาร์ด (Anna Cohn Orchard) ผู้อำนวยการ Exeter UNESCO City of Literature สหราชอาณาจักร ถ่ายทอดเรื่องราวการเปลี่ยนเอ็กซิเตอร์ (Exeter) เมืองชนบทเล็กๆ ที่มีประชากรไม่ถึง 200,000 คน ให้กลายเป็น “เมืองวรรณกรรม” ที่มีชื่อเสียงระดับโลก หัวใจสำคัญของความสำเร็จนี้ ไม่ใช่แค่เพียงการมีมรดกทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่กว่าพันปีอย่าง Exeter Book หนังสือรวมบทกวีภาษาอังกฤษโบราณจากศตวรรษที่ 10 หรือการเป็นบ้านเกิดของ Penguin Books สำนักพิมพ์ที่พลิกโฉมวงการหนังสือทั่วโลกด้วยแนวคิดว่า “หนังสือคุณภาพควรเข้าถึงได้ในราคาย่อมเยา”
แต่คือการมองเห็นวิธีเพิ่มมูลค่าและรู้จักต่อยอดด้วยการผลักดันให้เป็นหนึ่งในเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านวรรณกรรมของ UNESCO ในปี 2019
เบื้องหลังความสำเร็จเกิดจากการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งระหว่างนักเขียน นักวิชาการ บรรณารักษ์ สภาเมือง มหาวิทยาลัย องค์กรด้านวรรณกรรม วัฒนธรรม และเครือข่ายห้องสมุด เพื่อร่วมกันสร้างอัตลักษณ์ความเป็นเมืองวรรณกรรมและส่งเสริมผลักดันให้วรรณกรรมเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของผู้คนทุกระดับ

“การได้รับเลือกให้เป็นเมืองแห่งวรรณกรรมเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นต่างหาก ที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จที่แท้จริง” แอนนาเล่าว่านับตั้งแต่ปี 2019 เอ็กซิเตอร์สามารถระดมทุนได้มากกว่า 900,000 ปอนด์
เพื่อนำมาขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการอ่านวรรณกรรมตั้งแต่ในระดับชุมชนไปจนถึงระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้วรรณกรรมเข้าถึงง่าย กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และทุกคนมีส่วนร่วม เช่น ตลาดหนังสือฤดูร้อน ที่ออกแบบและจัดการโดยเยาวชนในท้องถิ่น Silent Book Club ที่เชิญชวนให้นักอ่านมานั่งอ่านหนังสือด้วยกันแบบเงียบๆ ตู้ขายหนังสืออัตโนมัติ Penguin Books ที่กลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่และกลายเป็นจุดหมายของทั้งนักอ่าน นักเดินทาง และคนรักหนังสือ ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อระดับชาติอย่างมากและสร้างกระแสโด่งดังทางโซเชียลมีเดีย โครงการ Bibliotherapy ที่ใช้วรรณกรรมเสริมสร้างสุขภาวะทางใจ Book Nooks มุมอ่านหนังสือเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในชุมชนรายได้น้อยที่ยังไม่มีร้านหนังสือหรือห้องสมุดเพื่อให้ทุกคนมีจุดพักใจผ่านการอ่าน ไปจนถึงแคมเปญระดับชาติอย่าง “Visit Exeter” ในรูปแบบตลาดหนังสือวรรณกรรมที่เข้าถึงผู้คนเกือบ 1 ล้านคนทั่วสหราชอาณาจักร อีกทั้งยังสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ เช่น โครงการ Screen Devon ซึ่งกำลังพัฒนาสตูดิโอผลิตภาพยนตร์ในมณฑลเดวอน (Devon) ที่ให้นักเขียนมาถ่ายทอดเรื่องราวในท้องถิ่น เพื่อนำมาทำเป็นบทภาพยนตร์ และถ่ายทำจากพื้นที่จริง ซึ่งเป็นการสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างครบวงจร
นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “พลังเครือข่าย” ที่ทำให้เอ็กซิเตอร์เข้าถึงเมืองวรรณกรรมอีกกว่า 50 เมืองจาก 39 ประเทศ ซึ่งเป็น “ชุมชนสร้างสรรค์ระดับโลก” ที่เชื่อมโยงกันด้วยศิลปะ วัฒนธรรม เปิดประตูสู่ความร่วมมือและโอกาสใหม่ๆ ทั้งด้านการลงทุน การท่องเที่ยว การต่อยอดสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ส่งเสริม “นักแปล” นำวรรณกรรมออกเดินทางข้ามโลก
เทีย สตรานเดน (Tiia Strandén) ผู้อำนวยการ Finnish Literature Exchange (FILI) จากประเทศฟินแลนด์ เผยเบื้องหลังความสำเร็จของการพาวรรณกรรมจากประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง 5.5 ล้านคน แถมยังใช้ภาษาเฉพาะถิ่นที่มีผู้ใช้ไม่มากนัก ออกสู่สายตาผู้อ่านทั่วโลกได้มากกว่า 50 ภาษา ด้วยพลังแห่งการแปล

บทบาทของ FILI คือการวางรากฐานสนับสนุนการแปลอย่างเป็นระบบด้วยการให้ทุนในหลายรูปแบบ โดยดำเนินการผ่าน 4 แนวทางสำคัญ ได้แก่
1. สนับสนุนการแปล เนื่องจากข้อจำกัดด้านจำนวนผู้ใช้ภาษา ทำให้ต้นทุนการแปลภาษาฟินแลนด์สูงกว่าปกติ FILI จึงมอบทุนสนับสนุนการแปลถึงปีละ 3 รอบ รวมมูลค่ากว่า 600,000 – 700,000 ยูโรต่อปี ให้แก่สำนักพิมพ์ต่างประเทศ
เพื่อผลักดันหนังสือฟินแลนด์ให้เข้าถึงนักอ่านทั่วโลก พร้อมให้ทุนเอเจนต์สำหรับทำตัวอย่างงานแปล (Sample Translation)
ไปโปรโมตตามเทศกาลต่างๆ ให้ทุนโปรโมตหนังสือใหม่สำหรับสำนักพิมพ์และผู้จัดงาน ไปจนถึงทุนเล็กๆ อย่าง Reader’s Report Grant มอบให้กับสำนักพิมพ์ต่างประเทศเพื่อจ้างนักอ่านมาเขียนรีวิวหนังสืออย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ FILI ยังติดตามดูแล ทั้งกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นการแปล การขายลิขสิทธิ์ การจัดพิมพ์ ไปจนถึงการประชาสัมพันธ์ เช่น สนับสนุนค่าเดินทางและที่พักให้นักเขียนที่ได้รับเชิญไปร่วมงานเปิดตัวหรือหรือเทศกาลวรรณกรรมนานาชาติ
2. ส่งเสริมนักแปลให้สามารถเติบโตในวิชาชีพ ด้วยการจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะการแปล และจัด Fellowship Program เชิญนักแปลจากทั่วโลกกว่า 60 คน มาร่วมพบปะ แลกเปลี่ยน และอัปเดตความเคลื่อนไหวในวงการวรรณกรรมของฟินแลนด์
3. โปรโมตวรรณกรรมฟินแลนด์ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยเข้าร่วมงานเทศกาลหนังสือระดับโลก เช่น Frankfurt Book Fair, London Book Fair ทั้งเพื่อ “สำรวจตลาด” และหาวิธี “เจาะตลาด” พร้อมจัดงานสัปดาห์บรรณาธิการหรือ Editors’ Weeks โดยเชิญสำนักพิมพ์ต่างชาติมาเยือนฟินแลนด์ เพื่อทำความรู้จักกับวรรณกรรมฟินแลนด์ พร้อมพูดคุยกับผู้จัดพิมพ์ บรรณาธิการ นักเขียน เอเจนต์อย่างใกล้ชิด ซึ่งได้ผลลัพธ์อย่างน่าประทับใจเพราะ 75% ของสำนักพิมพ์ที่เข้าร่วมได้กลับไปตีพิมพ์หนังสือฟินแลนด์จริง 4. การประชาสัมพันธ์และการตลาด เนื่องจากมีการแข่งขันสูงและนักเขียนหน้าใหม่จากฟินแลนด์อาจยังไม่เป็นที่รู้จัก FILI จึงเน้นสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสำนักพิมพ์ เจ้าภาพงานเทศกาล สื่อ และอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อให้ช่วยเป็นกระบอกเสียงและสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นในวงกว้าง นอกจากนี้ ยังมีการติดตามเก็บข้อมูล สถิติ ตัวเลขต่างๆ มาใช้วางแผนการโปรโมตและทำการตลาดเชิงลึก
เทียเล่าว่า การได้รับเกียรติให้เป็น Guest of Honour ในงาน Frankfurt Book Fair 2015 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คนในวงการหนังสือฟินแลนด์ร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพราะเกิดการสร้างเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กันอย่างกว้างขวาง ทำให้การส่งออกวรรณกรรมและจำนวน Literary Agent เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้อุตสาหกรรมหนังสือเข้มแข็งและเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
เทียเชื่อว่า ถ้าอยากให้วรรณกรรมมีชีวิตชีวา มีความหมาย และเติบโตได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จำเป็นต้องก้าวข้ามขีดจำกัดด้านพรมแดนและภาษา พร้อมเปิดโอกาสให้นักเขียนได้เดินทางเปิดโลก พบปะ แลกเปลี่ยนความคิด และรับแรงบันดาลใจใหม่ๆ เพื่อนำกลับมาต่อยอดในงานเขียนและพัฒนาวงการวรรณกรรม
วรรณกรรมเกาหลีกับการพาสชั้นสู่ป็อปคัลเจอร์ “มนต์สะกดคนทั่วโลก”

หนึ่งเดียวจากเอเชียที่ขึ้นเวที TK Forum 2025 ในครั้งนี้ ปาร์ค ชานอู (Park Chanwoo) จากสถาบันแปลวรรณกรรมแห่งเกาหลีใต้ (Literature Translation Institute of Korea – LTI Korea) บอกเล่าความสำเร็จในการผลักดันวรรณกรรมเกาหลีจาก “วัฒนธรรมท้องถิ่น” สู่ “สินค้าทางวัฒนธรรมระดับโลก” ซึ่งไม่ใช่เป็นเพราะอานิสงส์จากกระแส K-pop แต่เป็นผลมาจากการวางแผนอย่างมียุทธศาสตร์และการผลักดันอย่างมีทิศทาง ต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 ปี
LTI Korea มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและผลักดันนักเขียนเกาหลีจำนวนมากให้เป็นที่รู้จักในแวดวงวรรณกรรมระดับโลก การสนับสนุนผลงานแปลจากหนังสือของ ฮันคัง (Han Kang) ไปมากกว่า 40 ภาษา จนกระทั่งเธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2024 ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์วรรณกรรมเกาหลีใต้ ในฐานะที่เป็นนักเขียนผู้หญิงเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้
การทำงานของ LTI Korea เริ่มต้นจากการวางรากฐานทั้งด้านการแปลการจัดพิมพ์ และการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบและครบวงจร เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของวรรณกรรมเกาหลีในระดับนานาชาติ โดยดำเนินการผ่าน 3 กลไกสำคัญ ได้แก่ 1. การมอบทุนสนับสนุนการแปลและจัดพิมพ์วรรณกรรมเกาหลีให้กับสำนักพิมพ์ต่างประเทศ
เพื่อช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่าย ยกระดับคุณภาพงานแปล และเชื่อมโยงกับผู้อ่านทั่วโลก ปัจจุบันมีผลงานหนังสือเกาหลีที่ได้รับการแปลออกไปแล้วกว่า 40 ภาษา ครอบคลุมผู้อ่านในหลากหลายภูมิภาค
2. จัดตั้ง Translation Academy โครงการฝึกอบรมเพื่อปั้นนักแปลวรรณกรรมรุ่นใหม่ให้เป็นมืออาชีพ โดยเน้นความเข้าใจทางภาษาและวัฒนธรรมเกาหลีอย่างลึกซึ้ง เปิดสอนถึง 7 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ในอนาคต LTI Korea ยังตั้งเป้าหมายยกระดับ Translation Academy ให้เป็นสถาบันระดับบัณฑิตวิทยาลัยที่มีหลักสูตรเต็มรูปแบบ เพื่อดึงดูดนักเรียนคุณภาพจากทั่วโลกให้มาเรียนรู้วรรณกรรมและวัฒนธรรมเกาหลี และเพื่อสร้างนักแปลมืออาชีพรุ่นถัดไปที่มี “มาตรฐานใหม่” สำหรับการแปลวรรณกรรมให้มีความลุ่มลึกเพื่อสร้างความประทับใจให้ผู้อ่านยิ่งกว่าเดิม
3. สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล KL Wave (Korean Literature Wave) และ ห้องสมุดวรรณกรรมเกาหลีออนไลน์ (Digital Library of Korean Literature) ที่รวบรวม eBook และ audiobook หลากหลายแนว ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทความ และงานวิชาการ พร้อมจัดหมวดหมู่ให้เลือกอ่านได้ง่ายๆ สามารถเข้าถึงคลังวรรณกรรมเกาหลีได้ฟรีจากทั่วทุกมุมโลก ทำให้วรรณกรรมเกาหลีเข้าไปอยู่ในมือผู้อ่านได้แบบไร้พรมแดน
ปาร์คเชื่อว่า วรรณกรรมสามารถเชื่อมโยงผู้คนข้ามวัฒนธรรม และปลุกพลังแห่งความเข้าใจซึ่งกันและกันได้ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของชาติ พร้อมย้ำว่าการส่งเสริมวรรณกรรมเกาหลีมาได้จนถึงจุดนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ภาคเอกชนสามารถทำได้โดยลำพัง ต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะการแปลวรรณกรรมคุณภาพนั้นมีต้นทุนสูงมาก แต่ก็คุ้มค่าเมื่อเทียบกับผลกระทบเชิงวัฒนธรรมและโอกาสทางเศรษฐกิจที่ตามมา
ห้องสมุดคือหัวใจของความรู้และประตูสู่โอกาส
เมื่อพูดถึงเรื่องของหนังสือ ก็ต้องกล่าวถึงบทบาทของห้องสมุดด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ห้องสมุดจะมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตผู้คนและชุมชนมากเพียงใด แต่การจะบริหารจัดการห้องสมุดให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานเดียวกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ซู วิลเลียมสัน (Sue Williamson) ผู้อำนวยการฝ่ายห้องสมุด Arts Council Englandและรองประธานคณะกรรมการมูลนิธิ The Reading Agency แห่งสหราชอาณาจักร ได้สะท้อนภาพระบบห้องสมุดของสหราชอาณาจักรที่กำลังเผชิญความท้าทายอย่างหนักจากโครงสร้างการปกครองภายในที่ซับซ้อน การลดงบประมาณ และการขาดมาตรฐานกลาง โดยเฉพาะในกรณีของอังกฤษที่ห้องสมุดประชาชนอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสภาท้องถิ่นกว่า 150 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งก็มีงบประมาณ นโยบาย และเป้าหมายของตนเองไม่มีหน่วยงานกลางกำกับดูแลและไม่มีมาตรฐานร่วมกัน ส่งผลให้มาตรฐานการให้บริการและโอกาสในการเข้าถึงห้องสมุดของประชาชนในแต่ละพื้นที่มีความเหลื่อมล้ำกันอย่างชัดเจน

‘พระราชบัญญัติห้องสมุดประชาชนและพิพิธภัณฑ์’ มีผลบังคับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องให้บริการห้องสมุดที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ เป็นการเน้นย้ำให้ท้องถิ่นเห็นถึงความสำคัญของห้องสมุด อย่างไรก็ตาม องค์กรปกครองท้องถิ่นเองก็ประสบปัญหาด้านงบประมาณเช่นเดียวกับหน่วยงานของรัฐทั้งหลาย แต่ข้อดีประการหนึ่งของโครงสร้างการบริหารจัดการห้องสมุดและระบบการให้ทุนของอังกฤษนั้นก็คือ มีกฎระเบียบที่เอื้อต่อการให้ทุนสนับสนุนโครงการต่างๆ ดังนั้นจึงเกิดกระบวนการระดมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ องค์กรไม่แสวงหากำไร และภาคประชาสังคม ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานกลางและองค์กรวิชาชีพที่ช่วยสนับสนุนด้านเงินทุน กำหนดมาตรฐาน และพัฒนาบุคลากร
ทำให้บรรณารักษ์ต้องพัฒนาทักษะเพิ่มเติมในด้านบริหารจัดการองค์กรและการบริหารโครงการให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
ซูกล่าวว่า ห้องสมุดในสหราชอาณาจักรได้วางยุทธศาสตร์ร่วมกันโดยมีเป้าหมายให้การบริหารจัดการห้องสมุด
ทุกแห่งเกิดประสิทธิภาพและกลับมามีบทบาทสำคัญในสังคมอีกครั้ง โดยมี 4 แนวทางสำคัญประกอบด้วย 1. ความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระหว่างห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็น ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดโรงเรียน และห้องสมุดสถาบันวิชาการ เพื่อรับมือกับประเด็นร่วมสมัยอย่างเช่น ข่าวปลอม ข้อมูลเท็จ และผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพราะยิ่งร่วมมือกันได้มากก็จะยิ่งสามารถใช้พลังของเครือข่ายห้องสมุดทั่วประเทศในการตอบโจทย์และแก้ปัญหาสำคัญของสังคมได้ดียิ่งขึ้น
2. การเปิดกว้างสู่ภารกิจระดับชาติ ห้องสมุดจำเป็นต้องก้าวข้ามจากกรอบเดิม ๆ ไม่ควรจำกัดบทบาทตนเองอยู่แค่ในระดับชุมชน แต่ต้องมองให้ไกลออกไปว่าสามารถสนับสนุนนโยบายระดับชาติและเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้พัฒนาประเทศได้ และควรได้รับงบประมาณอย่างเหมาะสมเพื่อทำหน้าที่นั้น 3. สร้างระบบมาตรฐานกลางและข้อมูลร่วมเป็นกลไกในการพัฒนา ทำให้ห้องสมุดในทุกพื้นที่มีมาตรฐานกลางที่เป็นที่ยอมรับ และมีระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงถึงกัน 4. ต้องไม่มองว่ารัฐบาลส่วนกลางเป็นศัตรูขององค์กรปกครองท้องถิ่น เพราะหากมีโครงสร้างการทำงานร่วมกันที่ชัดเจน มีข้อมูลที่เหมาะสม มีมาตรฐานรองรับ และมีเป้าหมายเดียวกัน รัฐบาลส่วนกลางกับท้องถิ่นย่อมจะสามารถร่วมมือกันพัฒนาห้องสมุดที่มีคุณภาพสำหรับบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

ซูย้ำว่า ห้องสมุดควรได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทุกฝ่าย เพราะ ห้องสมุดไม่ใช่แค่ที่เก็บหนังสือ แต่คือ ‘หัวใจของความรู้’ และ ‘ประตูสู่โอกาส’ ที่เชื่อมโยงผู้คนเข้ากับการเรียนรู้ และอนาคตที่ดีกว่า ห้องสมุดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน เป็นศูนย์กลางทำกิจกรรมต่างๆ ของครอบครัวและชุมชน เชื่อมโยงสายใยทางสังคมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพและรู้เท่าทัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความเท่าเทียม โอกาส และการสร้างอนาคตร่วมกันของทั้งประเทศ
ถอดบทเรียน TK Forum 2025 ที่ไทยสามารถปรับใช้
บทเรียนที่ได้จากเวที TK Forum 2025 ชี้ให้เห็นว่า “การอ่าน” ไม่ใช่แค่จุดเริ่มต้นในการพัฒนาคน แต่เป็นรากฐานที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาชุมชน เมือง ไปจนถึงระดับประเทศ และครอบคลุมทั้งในมิติทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ พร้อมเปิดมุมมองที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้ได้ โดยมีกุญแจสำคัญคือการลงมือทำอย่างต่อเนื่องระยะยาว มีเจ้าภาพหลัก ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย มีการลงทุนเชิงโครงสร้างและวางกรอบกฎหมายที่ชัดเจนสามารถบังคับใช้ได้จริง

ปัจจุบัน TK Park มีบทบาทสำคัญในฐานะหนึ่งในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อร่วมผลักดันโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอ่านการเขียนและการแปลอย่างเป็นระบบ เป้าหมายคือการสร้าง “ระบบนิเวศหนังสือและการอ่าน” ที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นรากฐานของงานเขียนและงานแปลที่มีคุณภาพ ที่นำไปสู่การสร้างสรรค์วรรณกรรมไทยและการแปลผลงานที่ทรงคุณค่าให้สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือแอนิเมชัน ขับเคลื่อนวงการวรรณกรรมไทยให้แข่งขันได้ในระดับสากลและก้าวสู่การเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจทั้งรายได้และชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีโลก
TK Park เชื่อว่าด้วยทุนทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งของประเทศไทย หากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจริงจัง โอกาสที่วรรณกรรมไทยจะได้รับความนิยมในระดับโลกก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม