“กันยา เทียนสว่าง” นางสาวสยามคนแรกในประวัติศาสตร์ ผู้ถือกำเนิดขึ้นเพราะรัฐธรรมนูญ เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ จากไปด้วยวัยเพียง 46 ปี
เป็นที่รู้กันดีว่านางงามไทยขึ้นชื่อระดับโลกว่าเป็นประเทศที่ “สายสะพายแข็ง” ที่สุดประเทศหนึ่ง ด้วยประเทศไทยเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมนางงามเฟื่องฟู มีนางงามที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลากหลายคน แต่รู้หรือไม่ว่านางงามไทยคนแรกนั้นถือกำเนิดขึ้นเพราะรัฐธรรมนูญ
เนื่องด้วยปี 2475 สยามมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก จึงเกิดงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้น แต่ถึงเช่นนั้นชาวสยามก็ถือว่ายังใหม่กับคำว่ารัฐธรรมนูญ หลายคนยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร ในปี 2477 รัฐบาลภายใต้การนำประเทศของพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี จึงได้กำหนดให้มีงานฉลองรัฐธรรมนูญอย่างยิ่งใหญ่ 5 วัน 5 คืนในปีนั้น
เพื่อที่จะประชาสัมพันธ์ให้คนในประเทศเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร ด้วยเหตุนี้เองจึงกำหนดให้มีการประกวด “นางสาวสยาม” ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อดึงดูดความสนใจของประชาชนให้มาร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญ
โดยได้จัดการประกวดนางงามประจำจังหวัดขึ้นก่อน เมื่อได้นางงามประจำจังหวัดแล้ว จึงจะจัดประกวดอีกครั้งเพื่อคัดเลือกตำแหน่งนางงามเลิศของสยามอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้เอง “ลูซิล” หรือ นางสาวกันยา เทียนสว่าง วัย 21 ปี ครูโรงเรียนประชาบาลทารกานุเคราะห์ สาวงามผู้มีใบหน้าคม จมูกโด่ง ผิวสองสีค่อนไปทางขาว สูงสมส่วน จึงปรากฎตัวครั้งแรกในการประกวดนางสาวพระนคร และสามารถเอาชนะสาวงามอีก 22 คน มาได้ จนครองตำแหน่งสาวงามพระนคร
จากนั้นกันยาจึงก้าวเข้าสู่เวทีการประชันโฉมของสุภาพสตรีทั้ง 50 คน ในวันที่ 12 ธันวาคม ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นที่บริเวณอุทยานสราญรมย์ เพื่อเฟ้นหาหญิงสาวที่สวยที่สุดในประเทศนี้ ก่อนที่กันยาจะคว้าตำแหน่ง “นางสาวสยาม” เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์
เธอได้รับรางวัลมงกุฎโครงทำด้วยเงินประดับเพชร หุ้มกำมะหยี่ปักด้วยดิ้นเงิน ล็อกเก็ตห้อยคอทองคำ ขันเงินสลักชื่อ นางสาวสยาม 77 และเงินสด 1 พันบาท
ถึงจะสร้างตำนานในหน้าประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นนางสาวสยามคนแรก แต่เส้นทางการประกวดนางงามของกันยาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ในยุคนั้นผู้คนยังมีความอนุรักษ์นิยมและมองว่าการออกโชว์ตัวในที่สาธารณะผ่านเวทีการประกวดนางงามเป็นเรื่องไม่ควร
แม่ของกันยาเองก็รู้สึกเช่นนั้น แต่อาเขยของกันยาได้ขอร้องให้เธอเข้าร่วมการประกวด ประกอบกับความรักสวยรักงามอยู่แล้ว กันยาจึงตัดสินใจประกวดนางงาม แม้จะต้องฝึกซ้อมด้วยตัวเอง ตัดชุดที่ใช้ใส่ในการประกวดด้วยตัวเองเธอก็ไม่ท้อ จนประสบความสำเร็จได้เป็นนางสาวสยามคนแรกผู้ถือกำเนิดขึ้นเพราะรัฐธรรมนูญ
หลังจากพ้นตำแหน่งเธอเข้าทำงานที่หอสมุดแห่งชาติ และต่อมาได้สมรสกับ ดร.สุจิต หิรัญพฤกษ์ ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ มีบุตรธิดารวม 5 คน เธอเสียชีวิตเมื่อ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2503 จากมะเร็งปากมดลูก ด้วยวัยเพียง 46 ปี
การประกวดนางสาวสยาม ดำเนินต่อมาเป็นเวลา 5 ปี ก่อนที่สยามจะเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย จึงมีการเปลี่ยนชื่อเรียกจากนางสาวสยามเป็น “นางสาวไทย” เช่นเดียวกัน นับว่าเป็นเวทีนางงามที่มีประวัติยาวนานมา 90 ปี แล้ว
โดยเรามีน้องดินสอสี พนิดา เขื่อนจินดา เป็นนางสาวไทย ประจำปี 2567 แม้ว่าในยุคแรกนั้นนางสาวสยามจะมีหน้าที่เพื่อสร้างสีสันแก่งานรัฐธรรมนูญ สร้างสรรค์ประเทศ การเมือง สังคม และประชาสัมพันธ์นโยบายสร้างชาติของรัฐบาล แต่ปัจจุบันนี้นางงามไทยมุ่งมั่นเพื่อไปประกวดเวทีระดับโลกซึ่งมีอยู่มากมายหลายเวที และยังคงคุณค่าของสาวงามที่มาเป็นกระบอกเสียงให้เรื่องราวต่างๆ ในสังคม
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.silpa-mag.com/old-photos-tell-the-historical-story/article_818 และ หนังสือ กันยา เทียนสว่าง เปิดตำนานนางสาวสยาม