ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านฤดูกาล หลายคนอาจประสบปัญหาโรคภูมิแพ้กำเริบ บางคนจะมีอาการจาม ไอ คันตา และจมูก ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนครั้งแรกของการแพ้ตามฤดูกาล ปัจจัยที่พบบ่อยที่สุดของการแพ้ตามฤดูกาล ได้แก่ หญ้าละอองเกสร และเชื้อรา โดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะโจมตีสารก่อภูมิแพ้ที่สูดดม และปล่อยสารเคมีที่เรียกว่า ฮิสตามีน และเจ้าฮิสตามีนเหล่านี้ก็ก่อให้เกิดอาการแพ้ และโรคหอบหืด
“โรคภูมิแพ้” เป็นโรคยอดฮิตที่คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันป่วยกัน สาเหตุมาจากพันธุกรรมประกอบกับชีวิต
ความเป็นอยู่แบบสมัยใหม่และมลภาวะที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งวิธีการรักษาและการป้องกันมีหลากหลายวิธี
ตั้งแต่การทานยา หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นอาการ ออกกำลังกาย
วิธีควบคุมการแพ้ตามฤดูกาล
นอกจากแก้ไขอาการแพ้ด้วยยา หรือภูมิคุ้มกันบำบัด การป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ก็เป็นขั้นตอนแรก
ที่สำคัญในการจัดการอาการ โดยเริ่มต้นจากที่อยู่อาศัยของเรา ได้แก่
– การทำความสะอาดบ้านเป็นประจำซึ่งรวมถึงการใช้เครื่องดูดฝุ่น HEPA บนพรม และผ้าม่านทั้งหมด
– กวาดลานใบที่ร่วงหล่น และพืชพรรณอื่นๆ ที่ตายแล้ว
– ทำความสะอาดรางน้ำ (ควรสวมหน้ากาก N95 เพื่อกรองละอองเกสร และเชื้อรา ในขณะที่ทำความสะอาดเสมอ)
– อาบน้ำสัตว์เลี้ยง หรือเช็ดขนเป็นประจำเพื่อกำจัดละอองเรณู และเชื้อรา
– ถอดแจ็คเก็ต และรองเท้าก่อนที่จะเข้ามาในบ้าน อาบน้ำเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าเมื่อกลับถึงบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นละอองฟุ้งกระจายภายในบ้าน โซฟา ที่นอน และปลอกหมอน
– สวมหน้ากาก N95 เพื่อลดการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ และเมื่ออยู่กลางแจ้งหรือในพื้นที่ที่มีมลพิษอย่างหนัก เพราะสามารถกรองละอองเรณู และสารก่อภูมิแพ้อื่นๆ จากอากาศที่คุณหายใจได้
– ใช้เครื่องฟอกอากาศสำหรับโรคภูมิแพ้ เพื่อหยุดสารก่อภูมิแพ้ก่อนที่พวกเขาจะก่อให้เกิดปฏิกิริยา
นอกจากนี้เรายังสามารถเสริมสร้างภูมิต้านทานในตนเองด้วยการเลือกรับประทานอาหาร
ที่สามารถช่วยต้านโรคภูมิแพ้ได้ ด้วย 6 กลุ่มอาหารต้านภูมิแพ้ ดังนี้
1. กลุ่มวิตามินซี: วิตามินซี มีส่วนช่วยในการป้องกันการหลั่งฮีสตามีน ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ร่างกายสร้างขึ้นและทำให้เกิดอาการภูมิแพ้
อาหารเพิ่มวิตามินซี พบมากในผักใบเขียว เช่น ตำลึง ผักโขม บร็อคโคลี กะหล่ำปลี ในผลไม้รสเปรี้ยว เช่น สับปะรด ส้ม สตรอเบอรี่ มะนาว
2. กลุ่มวิตามินเอ ช่วยในเรื่องการสร้างเนื้อเยื่อ และช่วยเสริมสร้างเยื่อบุต่างๆ ของร่างกาย ปรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในทางเดินหายใจ และทางเดินอาหารให้สมดุล
อาหารเพิ่มวิตามินเอ พบมากในกลุ่มผักผลไม้ที่มีสีเขียวเข้ม สีส้ม หรือสีเหลือง เช่น ฟักทอง แครอท มะละกอสุก มะม่วงสุก แคนตาลูป มะเขือเทศ เป็นต้น
3. กลุ่มโปรตีน โปรตีนกลุ่มนี้สามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายได้ เพราะหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของโปรตีน
คือกรดอะมิโน ซึ่งเป็นสารสำคัญในการนำไปสร้างภูมิคุ้มกันต่างๆ
อาหารเพิ่มโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ที่เป็นเนื้อล้วน อย่างเนื้ออกไก่ เนื้อหมู และไข่ไก่ นอกจากนี้ก็ยังพบได้ในถั่วต่างๆ
4. กลุ่มโอเมก้า 3 จะช่วยลดอาการอักเสบ ปรับภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยในการตอบสนองต่อเชื้อโรค และสารแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายได้เป็นอย่างดี
อาหารเพิ่มโอเมก้า 3 เช่น ปลาทะเลน้ำลึก ปลาทู ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลากะพง ซึ่งอาหารกลุ่มนี้อาจมีส่วนไปกระตุ้นอาการภูมิแพ้ได้ ดังนั้นควรตรวจสอบก่อนว่าคุณแพ้อาหารทะเลหรือไม่ ส่วนกรดไขมันโอเมก้า 3 ก็มีประโยชน์เช่นกัน พบมากในเมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง ถั่วเหลือง และผักใบสีเขียวเข้ม เป็นต้น
5.กลุ่มซีลิเนียม สารอาหารกลุ่มนี้จะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม หรือสารกระตุ้นภูมิแพ้ได้
อาหารเพิ่มซีลิเนียม พบมากในพืชตระกูลหอม เช่น หอมหัวใหญ่ หอมแดง เป็นต้น
6. กลุ่มฟลาโวนอยด์เควอเซทิน สารชนิดนี้เป็นสารต้านอาการแพ้ และลดการอักเสบ ช่วยยับยั้งการปล่อยสารฮิสตามินซึ่งทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้
อาหารเพิ่มฟลาโวนอยด์เควอเซทิน พบมากในกระเทียม และพืชตระกูลหอม อย่างหอมหัวใหญ่ หอมแดง แครอท ผักกาดหอม แอปเปิ้ล เป็นต้น
นอกจากการทานอาหารต้านโรคภูมิแพ้เหล่านี้แล้ว อย่าลืมออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นอาการร่วมด้วย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และห่างไกลโรคอย่างแท้จริง
ที่มาของข้อมูล : สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย