ทนายความและนักกฎหมายงัดหลักฐานชี้แจงคำว่า “ปังชา” หรือ “Pang Cha” ไม่ได้มีการจดไว้เป็นเครื่องหมายการค้า ผู้ประกอบการสามารถใช้คำว่า “ปังชา” ตั้งเป็นชื่อร้านได้ และสามารถขายเมนู “น้ำแข็งไส บิงซู” ได้ตามปกติ
กลายเป็นดราม่าร้อนแรงในโลกออนไลน์ เมื่อชาวเน็ตดัน #ลูกไก่ทอง ติดเทรนด์ X หลังจากเกิดกรณีพ่อค้าคนหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ถูกร้านดังฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 102 ล้านบาท เหตุไปละเมิดชื่อทางการค้า และหากเกิน 7 วัน ยังไม่ชำระหรือเพิกเฉยจะบวกค่าปรับอีกวันละ 1 หมื่นบาทต่อ 1 ร้าน
จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสังคม และทำให้ชาวเน็ตหลายคนประกาศเลิกกินเมนู “ปังชา” ของร้านดังอีกด้วย เนื่องจากไม่พอใจที่ไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับร้านเล็กๆ ด้วยจำนวนเงินมหาศาลขนาดนี้
นายวีรชาติ ไอยรากาญจนศักดิ์ เจ้าของร้าน “ปังชา ร้านน้ำชาเชียงราย” กล่าวว่า ได้รับหนังสือจากบริษัทกฏหมายแห่งหนึ่ง โดยสั่งให้ยุติการกระทำอันเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าและเรียกค่าเสียหายจำนวนทั้งสิ้น 102 ล้านบาท พร้อมขอให้หยุดใช้คำว่า “ปังชา” หรือ “Pang Cha”
ตอนแรกก็ตกใจ จึงได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อร้าน โดยร้านแรกชื่อ ปังชาเชียงราย มาม่าต้มยำ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย และมีอีกร้านเล็กๆ อยู่ในตัวเมืองเชียงราย มีประมาณ 30 โต๊ะ ซึ่งร้านนี้ยังไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อ เพราะอยู่ระหว่างปรึกษาทนายความและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องว่าทางร้านมีความผิดจริงหรือไม่
นายวีรชาติ กล่าวอีกว่า จริงๆ แล้ว ในส่วนของชื่อร้านมีเพียงภาษาไทยเท่านั้นที่เขียนเหมือนกัน ส่วนภาษาอังกฤษจะเขียนว่า Pung cha ขณะที่เมนูอาหารซึ่งถูกระบุว่าไปเหมือนกับผู้ส่งหนังสือ ตนใช้เป็นเมนูปังเย็น ซึ่งก็ไม่ได้ซ้ำกับทางบริษัทแต่อย่างใด ยืนยันว่าทางร้านไม่ได้มีความตั้งใจที่จะลอกเลียนแบบหรือใช้ชื่อซ้ำกัน แต่เป็นเพียงการตั้งชื่อจากการขายเมนูขนมปังและน้ำชา จึงตั้งชื่อปังชา และเปิดกิจการเล็กๆ ริมถนนมาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว
ถ้าหากทางร้านผิดจริงก็พร้อมที่จะเปลี่ยนชื่อ เพราะไม่อยากไปต่อสู้กับทุนใหญ่ ขอขายของในกิจการเล็กๆ และอยากเรียกร้องให้ผู้ที่รู้กฎหมายหรือหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูว่าชื่อ ปังชา ภาษาไทยสามารถใช้ได้หรือไม่ ส่วนเมนูที่ร้านมีขายหลากหลาย ทั้งขนมปังปิ้ง เมนูเย็น เครื่องดื่มร้อนเย็น น้ำแข็งไส ติ่มซำ และของร้อน
นายวีรชาติ กล่าว
จุดเริ่มต้นของประเด็นดราม่าในครั้งนี้มาจากเพจเฟซบุ๊ก Pang Cha – ปังชา World Class Thai Tea ได้โพสต์รูปเมนูปังชา เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2566 และระบุข้อความว่า ปังชา ได้รับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข และมีการโพสต์อีกว่า จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเครื่องหมายการค้า สู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยร่วมกันอย่างยั่งยืน
ต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม 2566 เพจเฟซบุ๊ก Pang Cha – ปังชา World Class Thai Tea ได้โพสต์ประกาศชี้แจงจากร้านอาหารลูกไก่ทองและร้านปังชา โดยระบุว่า ร้านอาหารลูกไก่ทอง และร้านปังชา ขอประกาศขอชี้แจงถึงกรณี ข้อความในโพสต์ที่ได้มีการโพสต์ผ่านทางโซเชียลมีเดียของทางร้าน ทางร้านขออภัยที่มีการสื่อสาร และทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ทางร้านขอน้อมรับทุกคำติชม คำแนะนำ และจะปรับปรุง พัฒนา ทั้งในการสื่อสาร การบริการ สินค้า ต่อไป ขอขอบคุณกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้ให้ข้อมูลและหาแนวทางร่วมกันในการชี้แจ้ง เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจทางแบรนด์เป็นอย่างดีที่สุด ที่สำคัญที่สุด กราบขอบพระคุณด้วยความเคารพจากใจในทุกๆ ท่าน ที่ร่วมกันโพสต์แสดงความคิดเห็นให้แนวทาง อธิบายในข้อมูลที่มี เพื่อเป็นความรู้กับปังชาเป็นอย่างดีที่สุด ขอบพระคุณจริงๆ ค่ะ
ที่ผ่านมาจากกระแสที่เกิดขึ้น ทางร้านลูกไก่ทอง และ ปังชา มิได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด แต่ได้มีการสอบถามและหาปรึกษาแนวทางร่วมกัน ชี้แจงกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงออกมาชี้แจง ณ ที่นี้ พร้อมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ซึ่งโพสต์ดังกล่าวมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันมากมายเป็นจำนวนหลายพันข้อความ แต่จากการตรวจสอบพบว่า ทางร้านได้ทยอยลบข้อความของชาวเน็ตออกไปบางส่วน จนเหลือแค่หลักร้อยข้อความเท่านั้น
ขณะที่ ดร.พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและนักวางแผนการเงินส่วนบุคคล โพสต์ข้อความชี้แจง พร้อมโชว์หลักฐานที่ได้มาจากเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยผู้ประกอบการสามารถใช้คำต่างๆ ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น PANG CHA, the Best Thai Tea, ปังชา
แต่ไม่สามารถใช้ถ้วยไอศกรีม หรือ ทำรูปโลโก้ หรือ เครื่องหมายการค้า หรือ ใช้ผู้หญิงใส่ชุดไทยมานั่งกับถ้วยไอศกรีม ที่มีการจดสิทธิบัตรไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้
โพสต์ของ ดร.พีรภัทร ระบุว่า #ปังชา จดทะเบียนอะไรบ้าง มาลองดูภาพกันครับ จะได้เข้าใจมากขึ้น ทั้งนี้ เราสามารถค้นหาข้อมูลต่างๆ ได้ฟรีจากเว็บไซต์ของ กรมทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากเป็นข้อมูลสาธารณะที่เผยแพร่อยู่แล้ว
- ถ้วยไอศกรีม – สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์นี้จะมีอายุความคุ้มครอง 10 ปี (ต่ออายุอีกไม่ได้)
ความคุ้มครอง คือ ร้านอื่น ๆ จะใช้ถ้วยไอศกรีม บิงซู น้ำแข็งใส ลักษณะเดียวกันกับที่เค้าจดทะเบียนไว้ไม่ได้ - เครื่องหมายการค้า – เท่าที่สืบค้นจะมีอยู่ 3 รูปที่จดคุ้มครองสินค้าประเภทน้ำแข็งไส (แต่เค้าจดเครื่องหมายไว้กับสินค้าประเภทอื่นๆ อีกหลายตัวเลย) ลองกดดูที่แต่ละรูปนะครับ จะเห็นข้อความสละสิทธิไว้ด้วย
รูปแรกที่เป็นผู้หญิงนั่งอยู่กับถ้วยไอศกรีม จะมีข้อความสละสิทธิเขียนไว้เลยว่า “ไม่ขอถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมันที่ปรากฎในภาพ ยกเว้นคำว่า KAM”
รูปที่สอง วงรีสีดำ จะมีข้อความสละสิทธิเขียนไว้เลยว่า “ไม่ขอถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมัน คำว่า PANG CHA THE BEST THAI TEA”
รูปที่สาม วงรีสีขาว จะมีข้อความสละสิทธิเขียนไว้เลยว่า “ไม่ขอถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมัน คำว่า PANG CHA”
ความหมาย คือ เราห้ามทำรูปโลโก้ หรือ เครื่องหมายการค้าแบบที่เค้าจดไว้ เช่น ผู้หญิงใส่ชุดไทยมานั่งกับถ้วยไอศกรีมแบบนี้ หรือ ทำเป็นโลโก้แบบในภาพ แต่คำต่างๆ ไม่ว่าจะ PANG CHA, the Best Thai Tea ใครๆ ก็สามารถใช้ได้
ยิ่งคำว่า “ปังชา” ภาษาไทย ยิ่งใช้ได้เลย เพราะเค้าไม่ได้จดไว้กับสินค้าบริการประเภทนี้ (แต่แอบเห็นว่าเอาภาษาไทยไปจดกับสินค้าประเภทอื่น เช่น สินค้าที่ระลึก) สรุปคำว่า “Pang Cha” หรือ “ปังชา” ไม่ได้มีการจดไว้เป็นเครื่องหมายการค้าของใครนะครับ ที่จดคือรูปภาพหรือโลโก้ ซึ่งได้สละสิทธิคำว่า Pang Cha ไว้แล้ว
ดังนั้นเรื่องฟ้องร้องเรียก 102 ล้านบาท ผมยังเห็นว่า ไม่น่าจะเรียกร้องได้นะครับ และผู้ประกอบการที่ตั้งชื่อเพจว่า ปังชา ไม่ต้องไปลบเพจนะครับ ใช้ขายน้ำแข็งไส บิงซู ต่อไปได้
ปล.อันนี้เป็นการสืบค้นเบื้องต้นจากการเอาชื่อที่ปรากฎตามข่าวไปค้นดูนะครับ เค้าอาจจะมีการใช้บุคคลอื่นในการจดอีกก็ได้นะครับ
นอกจากนี้ ดร.พีรภัทร ยังโพสต์อีกว่า ทนายความมีหน้าที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายที่ถูกต้องกับลูกความ หากไม่ใช่เรื่องที่ตนถนัดก็ควรสอบถามผู้เชี่ยวชาญก่อน ไม่ใช่ให้ส่ง Notice รัวๆ เรียกค่าเสียหาย สุดท้ายกลายเป็นส่งผลเสียต่อ Brand Image
เมนู “ปังชา” คืออะไร?
ปังชา คือ เมนูน้ำแข็งไส หรือที่เรียกกันจนชินปากว่า “ปังเย็น” แต่ปังชาของร้านลูกไก่ทอง ซึ่งเป็นร้านที่ถูกแนะนำอยู่ในคู่มือ “มิชลิน ไกด์” ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2564 จะมีความพิเศษกว่าร้านอื่นๆ คือ ใช้ชาไทยคุณภาพดี ก่อนนำมาคั่วอบด้วยสูตรเฉพาะตามต้นตำรับที่ยังใช้ศิลปะการต้มใบชาแบบดั้งเดิม ที่ให้ความหวาน มัน หอม เข้มข้น
ชา 5 ชนิดดังกล่าว ได้แก่ Local Southern Thai Tea, Emperor Oolong Tea, Popular Red Tea, Leaf Black Tea, Ceylon Tea ซึ่งชาแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติแตกต่างกัน บางชนิดให้รสเข้มข้น ชาอีกชนิดให้กลิ่นหอม และทุกอย่างต้องผสมและชงออกมาได้พอดีและลงตัวที่สุด
ส่วนวัตถุดิบอื่นๆ ในเมนูปังชาก็จะมี ขนมปัง ท็อปปิงไข่มุก 3 อย่าง คือ ไข่มุกแก้ว ไข่มุกชาไทย ไข่มุกชาดำ อัลมอนด์สไลซ์ วิปครีม และน้ำแข็งไสทรงภูเขา ฟูนุ่มเหมือนปุยนุ่น เสิร์ฟบนถ้วยไอศกรีมแบบพิเศษของทางร้าน