ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาวงการแบดมินตันไทยไม่เคยขาดนักกีฬาฝีมือดี ที่สำคัญเรามีนักตบลูกขนไก่สายเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทนรุ่นพี่อย่างต่อเนื่อง และสร้างผลงานความสำเร็จในเวทีระดับนานาชาติได้ตลอด
อย่างเช่นล่าสุดในศึกเยาวชนเอเชีย 2022 หรือรายการ “TOYOTA Gazoo Racing Badminton Asia U17 & U15 Junior Championships 2022” ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า แจ้งวัฒนะ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
ทีมแบดมินตันไทยก็สามารถคว้าแชมป์มาครองได้ถึง 3 รายการใหญ่ คือ ประเภทหญิงเดี่ยว ยู-17 ปี จาก “ส้ม” สรัลรักษ์ วิทิตศานต์ ซึ่งเป็นน้องสาวของ “วิว กุลวุฒิ” นักแบดมินตันชายเดี่ยวมือ 1 ของไทยในขณะนี้
รวมถึงแชมป์ประเภทหญิงเดี่ยว ยู-15 ปี จาก “หนูแหวน” อัญพัชร์ พิชิตปรีชาศักดิ์ และแชมป์ประเภทหญิงคู่ ยู-15 ปี จาก “เกรซ” พรรษอร พรรณเชษฐ์ กับ “รวงข้าว” ญาตาวีมินทร์ เกตุเกลี้ยง
นับเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมของวงการแบดมินตันไทย รวมถึงสะท้อนทิศทางการพัฒนานักตบลูกขนไก่ดาวรุ่งของไทยได้เป็นอย่างดี แต่ก็ต้องจับตามองกันต่อไปว่าน้องๆ เหล่านี้จะก้าวขึ้นไปสร้างความยิ่งใหญ่ในรุ่นโอเพ่นได้หรือไม่
สอดคล้องกับมุมมองของ สุจิตรา เอกมงศลไพศาล อดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย ที่แสดงความคิดเห็นว่าวงการแบดมินตันไทยมีความก้าวหน้าเป็นอย่างดี เพราะปัจจุบันมีน้องๆ เยาวชนหันมาเล่นแบดฯ กันมากขึ้น และหลายๆ คนก็มีความสามารถที่ดี
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือช่วงรอยต่อของอายุระหว่างช่วงวัยรุ่นและช่วงที่กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะอาจจะทำให้เด็กๆ เหล่านั้นต้องเลือกตัดสินใจระหว่างการเรียนหรือกีฬา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวงการแบดมินตันไทยในภาพรวมได้
วงการแบดมินตันไทยก้าวหน้า เยาวชนหันมาเล่นเยอะขึ้น
สุจิตรา เอกมงศลไพศาล : ถามว่าตอนนี้แบดมินตันไทยก้าวหน้าขนาดไหน ต้องบอกว่าก้าวหน้าเยอะทีเดียวค่ะ เพราะว่าน้องๆ เยาวชนหันมาเล่นแบดมินตันกันเยอะมาก สนามแบดฯ โอ้โหขึ้นกันเยอะมากกว่าสมัยก่อนเยอะนะคะ เดี๋ยวนี้มีสนามแบดฯ ให้ใช้บริการกันเยอะทีเดียว เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องดีที่ผู้ปกครองพาน้องๆ มาเล่นแบดฯ กันเยอะมากขึ้นทีเดียวนะคะ
มันทำให้เรามีเยาวชนที่จะออกไปสู้กับประเทศอื่นได้เยอะ แต่ว่าสิ่งที่เป็นห่วงคือในช่วงรอยต่อค่ะ ที่เราอาจจะต้องพัฒนามากขึ้น คือช่วงที่เด็กกำลังโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น กำลังอยู่ในช่วงเรียนมัธยมปลาย ที่กำลังมีความคิดว่าเราควรจะเล่นแบดฯ ต่อหรือจะไปต่อมหาวิทยาลัย หรือควรจะหยุดแล้วพอแค่นี้
ถ้าเราไปต่อ แล้วไม่ค่อยได้ใส่ใจเรื่องการเรียน เราจะยังคงอยู่อย่างไรต่อไป ช่วงรอยต่อตรงเยาวชนตรงนี้ที่เราจะต้องออกไปแข่งขันกับเขา ไม่ว่าจะเป็นเวิลด์จูเนียร์เยาวชนโลก รุ่นยู-17 หรือ รุ่นยู-19 เป็นช่วงที่มันจะก้าวจากเยาวชนขึ้นไปสู่รุ่นใหญ่ ในรุ่นโอเพ่น คือพี่ตาไม่อยากให้เรามีเยาวชนเท่านี้
แต่พอเดินทางมาจนถึงยู-19 ที่จะออกสู่โอเพ่นมันเหลือแค่นี้ มันเหลือตัวเลือกน้อยมากที่เราจะออกไปสู้กับประเทศอื่นเขา พี่ตายังคงอยากให้เป็นเยอะๆ แบบนี้ค่ะ ให้เยาวชนไทยได้ออกไปต่อสู้กับประเทศอื่นเขา ยังคงมีจำนวนที่เยอะมาก
เพราะฉะนั้นเราอาจจะยังไม่รู้หรอกว่าน้องๆ เยาวชนคนไหนไปต่อได้มากน้อยแค่ไหน แต่อยากให้เรามีตัวเลือกเยอะๆ ในการที่จะผลักดันออกไปสู้กับประเทศอื่น ไม่ใช่เล่นไปเล่นมา จากเยอะมาก เหลือคนหนึ่ง เหลือสองคนอย่างนี้ค่ะ มันเลยยิ่งทำให้เราจะมีนักกีฬาที่จะออกไปเบียดในระดับโลกน้อยลงไปอีก
เพราะอย่างตอนนี้ที่เห็นประเทศอื่น ไม่ว่าจะอินเดีย เขาส่งแข่งรายการหนึ่ง 20-30 คนในประเภทหญิงเดี่ยว คือมันทำให้เขามีช้อยส์ตัวเลือกเยอะ ออกไปบี้กับประเทศอื่นๆ เยอะ มันเลยทำให้มีโอกาสที่จะขึ้นไปยืนบนโพเดี้ยมก็ทำได้ดีขึ้น
เพราะฉะนั้นเลยเป็นห่วงตรงนี้ค่ะในช่วงของรอยต่อ ที่เราจะพาเยาวชนไทยก้าวขึ้นไปสู่ในรุ่นโอเพ่นได้เยอะขนาดไหน ตรงนี้ที่เป็นห่วง
อดีตนักกีฬาแบดมินตันมือ 5 ของโลกกล่าว
โอกาสและความสำเร็จของนักแบดมินไทยระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย
สุจิตรา เอกมงศลไพศาล : ทำไมแบดมินตันผู้หญิงถึงดูดีกว่าผู้ชาย เราต้องยอมรับก่อนว่าจริงๆ แล้วในเวทีการแข่งขันในหลายๆ ชนิดกีฬา อย่างวอลเลย์บอล ผู้หญิงเราก็จะเบียดกับประเทศอื่นได้ดีกว่าอย่างนี้ค่ะ ผู้หญิงการแข่งขันมันอาจจะเบากว่า น้อยกว่านะคะ
ศักยภาพของผู้ชายในต่างประเทศก็แข็งแรงมาก คู่แข่งก็หนักหน่วงมาก อย่างกรีฑาเนี่ย ผู้ชายก็จะหนักหน่วงมากจริงๆ นะคะ เพราะฉะนั้นมันเลยค่อนข้างชัดเจนว่าในกีฬาผู้หญิงจะเบียดขึ้นไปสู่ระดับท็อปๆ ได้ง่ายกว่าผู้ชาย
ผู้ชายความยากจะมากกว่า ความแข็งแกร่งทุกสิ่งอย่างเลย พอเป็นกีฬาประเภทบุคคล มันก็เลยยิ่งทำให้ผลงานของผู้หญิงมันก็จะโดดเด่น เบียดขึ้นไปง่ายกว่า ความแข็งแรงของร่างกายมันจะไม่ค่อยแตกต่างกัน สำหรับเราและต่างประเทศสักเท่าไรนะคะ
แต่ผู้ชายต้องหิน ต้องแกร่ง ต้องแข็งแรงมากจริงๆ ค่ะ ถึงจะเบียดขึ้นไปสู่ระดับท็อปของโลกได้ในทุกๆ ชนิดกีฬา ในมุมมองของพี่ตา เพราะฉะนั้นมันก็เลยส่งผลถึงแบดมินตันเหมือนกันว่าถ้าฟิตไม่ดีจริงๆ มันก็เบียดยาก
ความเร็วของเกม ความหนักหน่วง มันก็เลยทำให้ส่งผลกับเกมการแข่งขันได้พอสมควร เลยรู้สึกว่าผู้หญิงมันยังไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไรในเรื่องของความแข็งแกร่งนะคะ
แล้วก็ฝีไม้ลายมือ เราสู้กันได้หมด แต่ว่ามันจะไปต่างกันตรงนั้นนิดนึงนี่แหละ ในเรื่องของความแข็งแกร่ง มันเลยทำให้เห็นภาพชัดว่าผู้หญิงผลงานมันจะดีกว่าหน่อยนึงค่ะ
สุจิตรา กล่าวทิ้งท้าย