“เราทำงานวนเวียนอยู่แบบนี้ เข้ากะเช้า บ่าย ดึก ฝนจะตกฟ้าจะร้อง ไม่สบาย เราก็ต้องไปด้วยสภาพเศรษฐกิจที่มันบีบคั้นคนงานมากๆ ถ้าไม่ไปรายได้พวกเบี้ยขยันเงินก็จะลดลง แต่ค่าใช้จ่ายที่จะต้องส่งลูกส่งพ่อแม่มันรออยู่”
ในช่วงที่ผ่านมาหลายคนอาจได้ยินชื่อของ “เซีย จำปาทอง” จากการปราศรัยครั้งแรกของเขา ณ ลานข้างห้างสรรพสินค้าสามย่านมิตรทาวน์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา
FEED จึงพาไปทำความรู้จักกับ “เซีย จำปาทอง” ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 4 จากพรรคก้าวไกล ปีกแรงงาน ที่มาถ่ายทอดเส้นทางชีวิตจากลูกเรือประมง หนุ่มโรงงานทอผ้า และการก้าวเข้าสู่ถนนการเมืองของเขา
เซีย จำปาทอง คือใคร
เซีย จำปาทอง : ผมเป็นแรงงานคนหนึ่งที่มีความเชื่อว่าการเมืองมันสามารถเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างของพวกเราได้ ตัวผมเองเป็นคนอำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ เป็นลูกชาวนาเกิดมาก็เห็นพ่อแม่ทำนา สมัยเรียนหนังสือก็เรียนโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ชีวิตในวัยเด็กเราก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไร เป็นเด็กชนบทคนหนึ่ง วันหยุดก็ไปช่วยพ่อแม่ทำนา เลี้ยงควาย ไม่มีโอกาสได้เล่นกับเพื่อนเท่าไหร่ พอเรียนจบ ป.6 ก็ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อช่วยพ่อแม่ทำนาอยู่ 2 ปี ก็เริ่มอยากไปทำงานพราะว่าเห็นรุ่นพี่ๆ ทื่เขาไปทำงานมีเงิน มีนาฬิกาใส่ มีเสื้อผ้าสวยๆ มีรองเท้าสวยๆ ใส่ เราก็อยากมีเหมือนเขา เราอยู่บ้านมันไม่มีเสื้อผ้าก็มีแค่ไม่กี่ชุด แม่ก็เลยให้ไปทำงานกับน้าเป็นลูกเรือประมง
ตอนนั้นอายุ 15 ปี ตัวเล็กอยู่เลย ทำงานในเรือประมงก็ลำบากใช้เวลาพักหนึ่งกว่าจะปรับตัวได้เจอคลื่นลมแรงก็อาเจียน เวลานอนก็ตัวติดกันเลย ห้องน้ำเป็นห้องน้ำธรรมชาติ น้ำจืดมีให้ใช้อย่างประหยัด 3-4 วันจะได้อาบน้ำครั้งหนึ่ง และได้เงินประมาณ 1,000 บาท ต่อเดือน ทำอยู่ประมาณ 5-6 ปี พอเลิกทำประมงก็กลับไปบวชได้ 1 พรรษา พอสึกออกมาพี่สาวกลับมาบ้านช่วงปีใหม่ก็เลยชวนผมมาทำงานที่โรงงานปั่นด้ายทอผ้า ในจังหวัดสมุทรปราการ พวกเราก็เลยตัดสินใจมาทำงานนั่งรถหกล้อมากัน จำได้ว่ามาเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2536 พอไปสมัครงานเขาก็สัมภาษณ์แล้วก็บอกให้ผมรอ ผมก็รอเกือบเดือนเลยนะจนถึงวันได้ทำงาน แต่ผมไม่รู้หนังสือก็เลยได้เป็นพนักงานทั่วไปทำหน้าที่เข็นลูกด้ายอันใหญ่หนักหลายร้อยกิโลกรัม ผมเข้าทำงานครั้งแรกได้ค่าจ้าง 115 บาทต่อวัน เป็นพนักงานรายวัน เงินก็จะออกเป็นงวดประมาณพันกว่าบาท
“เราเป็นความหวังของพ่อแม่นะ เราทำงานเงินเดือนออกเราก็ส่งกลับไปทางบ้าน มีน้องชายที่เรียนหนังสือก็ช่วยค่าใช้จ่ายของน้อง พ่อแม่ก็ต้องใช้เงินซื้อปุ๋ยซื้อกับข้าวมันก็จำเป็นต้องใช้จ่าย เราต้องดูแลเขาเพราะว่าเขาเลี้ยงเรามาจนเราโต”
ชีวิตในโรงงานอุตสาหกรรม
เซีย จำปาทอง : พูดถึงสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงงานมันก็มีผลกระทบต่อสภาพร่างกายของคนงานนะ เช่นเรื่องเสียงดัง มันเสียงดังตลอดเราเข้าไปทำงาน 8 ชั่วโมง เราต้องใช้ที่อุดหู บางแผนกต้องใช้สายตามันก็อาจจะแพ้แสง บางโรงงานเช่นโรงงานทอผ้าก็จะมีฝุ่นเยอะเราก็ต้องใช้ผ้าปิดจมูกตลอด ส่วนสภาพการทำงานพื้นฐานเลยนะเราก็ต้องทำงานเป็นกะ แบ่งเป็นกะเช้า กะบ่าย กะดึก ทำงานวนเวียนไปอยู่อย่างนี้ ฝนจะตกฟ้าจะร้องเราก็ต้องไปด้วยสภาพเศรษฐกิจที่มันบีบคั้นคนงานมากๆ บางทีเขาไม่สบายเขาก็ต้องไปนะ เพราะว่าถ้าไม่ไปรายได้ที่ควรได้ก็จะลดลง เช่นเบี้ยขยันหรือเงินพิเศษอื่นๆ แต่ค่าใช้จ่ายเขาที่จะต้องส่งบ้านส่งลูกส่งพ่อแม่มันรออยู่ เพราะฉะนั้นก็ต้องฝืนสังขารไปทำงาน บางคนก็เจ็บป่วยจากการทำงาน ผมเองก็เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หมอวินิจฉัยว่าเกิดจากการทำงานผมก็รักษาตัวอยู่หลายเดือนนะ ผ่าตัดแล้วก็เสริมเหล็กแล้วก็เอาน็อตยึด 6 ตัวอยู่ที่หลังเวลาผมเดินจะสังเกตเห็นว่าตัวผมจะแข็งๆ หน่อยเพราะว่ามีเหล็กอยู่ข้างหลังเป็นมนุษย์เสริมเหล็ก
“เราทำงานหนักเพราะเรามีภาระรออยู่ ค่าใช้จ่ายซื้ออาหารการกิน เราก็ไม่ได้กินอาหารที่ดีมีคุณภาพมากนะ เพราะว่าเงินเราน้อย เปรียบเทียบว่าเราจะซื้อทุเรียนสักลูก กิโลกรัมละประมาณ 160-170 บาท ถ้าเราทำงานค่าจ้างขั้นต่ำซื้อทุเรียนได้ลูกหนึ่ง 2 กิโลกรัม แล้ววันนั้นก็ไม่ต้องซื้ออย่างอื่น ทุเรียนลูกโตๆ สวยๆ เราไม่ได้กินหรอก ต้องกินที่เกรดต่ำลงมา รวมไปถึงพวกหมู ไก่ ก็ต้องซื้อที่เกรดมันไม่สูง ให้พวกเราได้มีอาหารกินเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่”
เซีย จำปาทอง : คนงานไม่มีโอกาสรวยหรอกครับ เพราะว่าคนงานทำงานได้รับค่าจ้างแค่วันละไม่กี่บาท แต่ภาระของที่จะต้องใช้จ่ายในแต่ละวันมันไม่สอดคล้องกัน คนส่วนใหญ่ที่จะมาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมถ้าเขามาสมัครงานแล้วเขารู้ว่าโรงงานนี้ไม่มีโอทีเขาไม่อยากอยู่หรอก เพราะว่าถ้าเขาไม่ทำโอทีรายรับมันก็ไม่พอกับรายจ่าย เขาก็ต้องหาโรงงานที่มันมีโอทีให้ทำ แม้ว่าร่างกายจะอ่อนล้า แต่ว่าความจำเป็นที่จะต้องใช้มันก็รออยู่ต้องส่งพ่อแม่ส่งลูกส่งค่าเช่าบ้าน
จุดเริ่มต้นการเข้าร่วมสหภาพแรงงาน
เซีย จำปาทอง : ผมทำงานในโรงงานมาเรื่อยๆ เจอคนงานเยอะมากเลย ก็มีพี่ๆ เขาก็มาพยายามอธิบายชักชวนผมให้สมัครสหภาพแรงงาน เขาก็เล่าว่าเมื่อก่อนไม่มีชุดทำงานนะ แต่สหภาพก็ยื่นข้อเรียกร้องจนมีชุดพนักงาน และมีการยื่นข้อเรียกร้องเรื่องการปรับเงินประจำปี โบนัสด้วย ตอนฟังแรกๆ ผมก็ไม่เชื่อนะคิดอยู่ว่ามันใช่หรือเปล่าเพราะเราไม่เคยได้ยินเรื่องสหภาพแรงงานมาก่อนเลย พอถึงเวลาที่สหภาพแรงงานเรียกร้องเขาก็พาผมไปร่วมกิจกรรม พอไปก็เห็นกระบวนการของเขาว่าทำอย่างไรเงินจาก 10 บาท ขึ้นเป็น 12 บาท เราก็เห็นว่าที่เขาพูดมันเป็นเรื่องจริง ก็เลยตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ไม่นานเขาก็แต่งตั้งผมเป็นอนุกรรมการฯ จากนั้นก็มีคนเสนอเป็นคณะกรรมการฯ ผมก็สมัครเป็นคณะกรรมการสหภาพแรงงาน เข้าร่วมประชุม กลุ่มศึกษา สัมมนา รับฟังเรื่องสิทธิแรงงาน กฎหมายแรงงาน จนเริ่มเกิดความเข้าใจ และได้รับตำแหน่งประธานสหภาพแรงงาน 2 วาระ
การจัดตั้งสหภาพแรงงานไม่ใช่เรื่องง่าย
เซีย จำปาทอง : บางที่นะถ้าคุณจะรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานแค่คิดเขาก็เลิกจ้างแล้ว เขาไม่ได้เลิกจ้างด้วยเหตุว่าคุณจะจัดตั้งสหภาพแรงงานนะ แต่ว่าเขาจะหาเหตุอย่างอื่นมาเลิกจ้าง การจัดตั้งสหภาพแรงงานจึงทำได้ยากมาก รุ่นพี่เล่าให้ฟังว่าบางคนต้องแอบไปคุยกันในห้องแถวข้างนอกโรงงานนู่นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริหารหรือหัวหน้างานรู้ นี่คือสิ่งที่เป็นสิทธิพื้นฐานแต่ว่าคนงานไม่สามารถเข้าถึงสิทธิพวกนั้นได้
เซีย จำปาทอง : พอเรามาทำงานสหภาพแรงงาน เราพบคนถูกเลิกจ้าง เราพบเรื่องการเรียกร้องสวัสดิการต่างๆ เราไปช่วยเหลือแต่เราคิดว่ามันคือปลายเหตุ ต้นทางของการแก้ปัญหาต่างๆ คืออำนาจทางการเมือง เราก็คุยกันหลายปีจะทำอย่างไรถึงจะมีพรรคการเมืองเป็นของตนเอง พอเราสรุปได้แบบนั้นเราก็พยายามเคลื่อนไหว เราเคยสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรค สนับสนุนบางนโยบายของพรรคการเมืองบางพรรค หรือแม้แต่บางคนมีสายสัมพันธ์กับ ส.ส.บางคน เราก็พยายามติดต่อให้เขาช่วยเรื่องปัญหาแรงงานแต่สุดท้ายมันก็ล้มเหลวมันไม่ได้เป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น จนกระทั่งปี 2560 ก็มีคนที่เคยเคลื่อนไหวปัญหาเศรษฐกิจสังคมการเมืองด้วยกัน มาชวนเราจัดตั้งพรรคตอนนั้นยังไม่รู้หรอกว่าเขาใช้ชื่อว่าพรรคอะไร แต่ว่าหลักการก็คือว่าจะตั้งพรรคการเมืองที่เป็นของทุกคนให้คนทุกสาขาอาชีพมารวมกัน นำปัญหาของแต่ละส่วนแล้วก็นำมาเสนอเป็นนโยบาย หลักการเขาคุยประมาณนั้นเราก็เห็นด้วยในหลักการ
จากอนาคตใหม่สู่ก้าวไกล
“พี่สุนทร (สุนทร บุญยอด อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ปีกแรงงาน) ติดต่อมาชวนผมก็ไปนั่งคุยกันว่าอยากทำพรรคการเมืองที่เป็นพรรคของพวกเรา เราก็เห็นด้วยกับหลักการนะเพราะว่าเราเคยเห็นพวกเขาเคลื่อนไหวทางการเมืองมา ตั้งแต่พวกเขาเป็นนักศึกษา เราเป็นแรงงานเคยไปเคลื่อนไหวปัญหานู่นนี่นั่นก็เคยเห็นเขา แล้วก็ชุมนุมปี 2553 ก็มีส่วนสำคัญเราก็เห็นรัฐประหารปี 2549 แล้วก็มาชุมนุมปี 2553 ก็เห็นพวกเขามีการเคลื่อนไหวทำงานต่อเนื่อง พวกเขายังมีจุดยืนที่เหมือนเดิม ในส่วนของกรรมกรก็เลยบอกว่าโอเคจะร่วม ก็ตัดสินใจส่งคนไปร่วมจดจัดตั้งพรรคเป็นอนาคตใหม่ เราก็ไปร่วมประชุมใหญ่ แล้วก็มีเครือข่ายแรงงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจนก็ไปร่วม ทางพรรคเขาก็กำหนดรายละเอียดของแรงงานแล้วก็กำหนดว่าแรงงานจะเป็นส่วนหนึ่งของพรรคเขียนไว้ในข้อบังคับเลย จากนั้นอนาคตใหม่ถูกยุบเราก็ย้ายมาอยู่พรรคก้าวไกล”
เซีย จำปาทอง : ผมก็เป็นแรงงานคนหนึ่ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผมมีความเชื่อว่าการเมืองมันสามารถเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่าง กำหนดทุกสิ่งทุกอย่างของพวกเราได้ แล้วก็พี่น้องแรงงานซึ่งอยู่ในเครือข่ายที่ใช้แรงงานพรรคก้าวไกลก็สนับสนุนผมเพราะว่าผมทำงานด้านแรงงานมาตลอด ผมไม่เคยหยุดเลยทำมาเกือบ 30 ปีแล้ว พี่น้องแรงงานเขาก็เห็นความตั้งใจของผม ความมุ่งมั่นของผม เขาก็สนับสนุนให้สมัครก็มีกระบวนการของพรรค กระบวนการของเครือข่ายแรงงาน
“เราขออำนาจในการบริหาร เพื่อแก้ปัญหาตามนโยบายพรรคก้าวไกล”
เซีย จำปาทอง : จริงๆ แล้วถ้าพูดเรื่องจะแก้ปัญหาเนี่ย เราบอกว่าเราขออำนาจในการบริหารนะถึงจะแก้ปัญหาได้ตามนโยบายที่เราหาเสียง ถ้าเราเป็นฝ่ายบริหารเราสามารถทำได้ หนึ่งก็คือเราจะปลดล็อกและเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับแรงงาน ทุกวันผมพูดถึงเรื่องการรวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงานที่มันทำได้ยากมาก ต้องปลดล็อกเรื่องนี้แล้วให้แรงงานสามารถรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่เฉพาะแรงงานในระบบนะแรงงานนอกระบบก็สามารถรวมตัวได้พี่น้องไรเดอร์พี่น้องที่รับงานไปทำที่บ้านพี่น้องอาชีพอื่นๆ ก็สามารถรวมตัวกันได้เพื่อสร้างอำนาจต่อรองเวลาพูดเสียงมันจะดังขึ้นให้คนในสังคมรู้ ให้รัฐรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ปัญหาให้เรา สองก็คือเพิ่มความคุ้มครองแรงงานทุกวันแรงงานทำงานอย่างหนักเพื่อให้มีค่าใช้จ่ายเพียงพอต่อการดำรงชีพ ทำงานมากกว่าที่กฎหมายกำหนด เราเสนอว่าเราจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บาททันที แล้วก็ปรับเพิ่มขึ้นทุกปี โดยที่ไม่ต้องไปยื่นหนังสือไปเดินประท้วงไปชุมนุม
ทำได้จริงไหม ผู้ประกอบการจะเจ๊งหรือเปล่า?
เซีย จำปาทอง : เรามีข้อมูลว่ายังไม่มีการปรากฏว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้วบริษัทเจ๊งจากการเพิ่มเรื่องค่าจ้าง อันนี้ยกตัวอย่างตอนปี 2554 2555 ที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทขั้นต่ำทั่วประเทศ นายจ้างจะปิดกิจการมันมีเงื่อนไขหลายอย่าง การแข่งขันทางด้านธุรกิจมันเป็นสิ่งที่สำคัญ มีปัจจัยอื่นๆ ต้นทุนอย่างอื่นๆ แล้วก็ข้อมูลของกระทรวงแรงงานก็ไม่ปรากฏผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ว่ามีโรงงานไหนเจ๊งเพราะเรื่องการปรับค่าจ้าง แน่นอนว่ามันอาจจะมีผลกระทบบ้างแต่ว่ามันไม่ถึงกับเจ๊ง
“อยากบอกเหมือนกันว่าพอเงินใปกระเป๋าแรงงานมากขึ้น สุดท้ายเงินมันจะกลับไปนายจ้างโดยอัตโนมัติ เดี๋ยวพวกผมได้ตังค์มา เดี๋ยวผมก็จะไปซื้อน้ำปลา ซื้อชูรส ซื้อกับข้าว ซื้อเสื้อผ้าใส่ ซื้อรองเท้าใส่ถ้ามีเงินมากหน่อยอาจจะเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือ ถ้าเครื่องเก่ามันเก่าแล้ว สุดท้ายเงินมันก็กลับไปหาเจ้าของกิจการนายทุนอยู่ดี”
ความทุกข์ของแรงงานหญิง
เซีย จำปาทอง : ข้อถัดไปก็คือเรื่องลดชั่วโมงการทำงาน ให้มีเงินเท่าเดิมแล้วก็ลดชั่วโมงทำงานลง เพราะว่าอยากให้แรงงานมีเวลาพบปะเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง มีเวลาอยู่กับครอบครัว มีเวลาศึกษาหาความรู้เพื่อยกระดับตนเอง ส่วนเรื่องการลาคลอด 180 วัน ข้อเรียกร้องที่แรงงานพูดถึงมานาน ในสภาพความเป็นจริงที่ผมเจอในโรงงานพี่น้องเราที่เป็นผู้หญิงที่ลาคลอดได้ 98 วัน ได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง 45 วัน อีก 45 วันไปรับจากสำนักงานประกันสังคมอีก 8 วันยังไม่ได้มีข้อกำหนดว่าจะไปรับค่าจ้างจากใคร และข้อเท็จจริงในโรงงานก็คือว่าสภาพเศรษฐกิจมันบีบบังคับ ลูกจ้างเขาหยุดงานแค่เดือนครึ่งสองเดือนก็ต้องรีบกลับมาทำงานเพื่อให้ได้เงินที่จะไปใช้จ่ายเลี้ยงลูกส่งพ่อแม่ตามปกติที่เคยได้รับ บวกกับค่าเลี้ยงดูเด็กที่ใช้เงินมาก เขาก็รีบกลับมาทำงานอาจส่งผลต่อสุขภาพของแม่ และอาจส่งผลต่อเด็กด้วย เป็นความทุกข์ของพี่น้องแรงงานหญิงที่เราเจอ เราจึงเสนอให้ลาคลอด 180 วันเถอะ ให้เขามีโอกาสได้ดูแลลูกและได้รับค่าจ้าง รวมถึงเปลี่ยนให้พ่อมาดูแลได้อันนี้เป็นนโยบายของเรา
นอกจากนี้ “เซีย จำปาทอง” ยังเล่าถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน เช่น นโยบายเพิ่มวันหยุดพักผ่อนประจำปี และสิ่งสำคัญคือรัฐสวัสดิการที่ย้ำว่าจะดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดยันเสียชีวิต โดยเฉพาะนโยบายบำนาญถ้วนหน้าคนละ 3,000 บาท ที่ไม่ต้องพิสูจน์ความจน เพื่อลดภาระให้กับแรงงานที่จะต้องดูแลลูกและพ่อแม่
“ชีวิตของพวกเราแรงงานทำงานหนักได้รับค่าจ้างที่น้อยมาก พรรคก้าวไกลมีนโยบายที่จะดูแลคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงาน เรามีความตั้งใจว่าเราจะผลักดันนโยบายเหล่านี้ให้เป็นจริง นโยบายเหล่านี้เราได้มาจากพี่น้องแรงงาน เราก็เป็นคนทำงานคนหนึ่งรู้ปัญหาของพี่น้องเป็นอย่างดีเราก็อยากจะแก้ปัญหา แต่อย่างไรก็ตามเราจะทำเรื่องนี้ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ถ้าเราไม่ได้ความไว้วางใจจากพี่น้องมาเลือกเรา อยากให้พี่น้องแรงงานเลือกพรรคก้าวไกล คุณภาพชีวิตแบบเดิมๆ ที่เราเคยใช้ชีวิตแบบเดิมๆ จะเปลี่ยนไป เราเชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้นอย่างแน่นอน กาก้าวไกลประเทศไทยไม่เหมือนเดิม ชีวิตแรงงานไทยก็ไม่เหมือนเดิมแน่นอน” เซีย จำปาทอง กล่าวทิ้งท้าย