FEED ขอนำเสนอซีรีส์สั้นชุด “แลนดิ้งสู่สภา” ซีรี่ย์ที่จะมาพูดคุยทำความรู้จักกับเหล่านักบินที่วันนี้ไม่ได้อยู่บนท้องฟ้าอีกต่อไป แต่พวกเขาได้ลงมาอยู่ในสนามเลือกตั้งปี 66 นี้ กับสนามเลือกตั้งที่เรียกได้ว่าในครั้งนี้เป็นการตัดสินอนาคตของประเทศ เรื่องราวของพวกเขาจะเป็นอย่างไร จะมีมุมมองหรือเรื่องราวในชีวิตที่น่าสนใจหรือไม่
สำหรับอาชีพนักบินคงจะเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน ต้องมีการเตรียมตัว เตรียมสอบ ที่ใช้เวลารวมๆแล้วนานกว่าปีเพื่อที่จะได้ถึงจุดหมายของอาชีพนี้ นักบินเป็นอาชีพที่ขึ้นชื่อว่ามั่นคงและมีการทำงานที่ไม่จำเจจนทำให้เป็นหนึ่งในอาชีพที่ติดอันดับอาชีพที่เด็กและเยาวชนใฝ่ฝันกันไปทั่วโลก
ชยพล สท้อนดี หรือที่บางคนอาจจะรู้จักเขาในชื่อ กู๊ดดี้ เป็นหนึ่งในคนที่มีความฝันและสามารถฝ่าฟันทุกด้านของการเป็นนักบินจนสามารถเป็นนักบินของสายการบินไทยกับเครื่องบิน Airbus A330 ได้อย่างเต็มตัว แต่ด้วยความโชคร้ายจากวิกฤต COVID-19 ทำให้บริษัทมีปัญหา ทำให้เขาต้องแยกทางและหันหน้าเข้าสู่วงการการเมืองกับพรรคก้าวไกล วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเขากันครับ
เล่าเส้นทางชีวิตกว่าจะเป็นนักบินหน่อยครับ
กู๊ดดี้-ชยพล สท้อนดี : เป็นนักบินก็คือการไปสอบ เป็นวิชาชีพหนึ่งที่เราไปสอบแล้วเอาความรู้พื้นฐานไปสอบ พอไปสอบเสร็จแล้วเขาก็จะพาเราไปเทรนต่อ จริงๆเส้นทางการเป็นนักบินมีหลายช่องทาง ทั้งในวิธีที่ผมเลือกใช้นะครับคือเรียนจบปริญญาตรี ซึ่งจะเป็นปริญญาตรีสาขาไหนก็ได้ เสร็จแล้วเราก็ไปสอบความรู้พื้นฐานเรื่องของฟิสิกส์ คณิต ที่เหลือจะเป็นเรื่องของทัศนคติ หรือเรื่องของ IQ และก็สอบสัมภาษณ์ไปตามกระบวนการ และหลังจากนั้นเราจะได้เป็นโคตาทุนสิทธิ์การบินของสายการบิน แต่จะมีอีกช่องทางนึงคือการที่เราเลือกจะไปเรียนเอง เราก็หางบของตัวเองประมาณ 2,300,000 – 2,500,00 ไปเรียนที่โรงเรียนการบิน เพื่อที่จะเอา License ตามขั้นตอนเป็น PPL Private Pilot license และ CPL Commercial Pilot License และก็เอาตรงนั้นไปสอบเข้าสายการบินเพื่อที่จะไปเทรนเป็นนักบินพาณิชย์อีกที เสร็จแล้วก็เข้าไปเป็นนักบินเต็มตัว
มีความสนใจส่วนตัวยังไงบ้าง
ผมเป็นคนที่งานอดิเรกเยอะมาก คือความสนใจมันกว้างมาก สมัยเด็กเรานึกภาพออกใช่มั้ย ตอนที่เราเด็กอยู่ ทุกอย่างที่เราได้ทำ จะถูกจำกัดโดยพ่อแม่จะวางกรอบไว้ให้เรา ซึ่งอย่างของผมจะเป็นเรื่องของการเรียนอย่างเดียวเลย จะมีการเรียนเลข เรียนคณิต เรียนเคมี เรียนวิทยาศาสตร์ ซึ่งมันทำให้ผมต้องออยู่กับหนังสือตลอดเวลา ทำให้ผมไม่ค่อยมีเวลาออกไปทำอะไรเท่าไร พอเราเริ่มมีชีวิตเป็นของตัวเอง เริ่มเลือกทางของตัวเองได้ เลยเริ่มแตกหน่อทำอะไรหลายอย่างมาก อย่างเช่นการเล่นกีฬา การเล่นดนตรี หัดถักนิตติ้ง ต่อโมเดล ถ่ายรูป หรือแม้กระทั่งการทำอาหาร ทุกวันนี้ผมจะชอบการทำอาหาร จนกระทั่งทำไปทำมาได้ไปออกรายการมาสเตอร์เชฟด้วย ซีซั่น 5 นะครับตามดูได้
ทำไมหันมาสนใจการเมือง
กู๊ดดี้-ชยพล สท้อนดี : …บางคนมองว่าผมอาจจะเสียสละอะไรมา แต่ผมไม่ได้เสียสละอะไรมาเลยนะ ผมมองว่าผมมาสร้างอะไรให้ตัวเอง เพราะว่าถ้าผมยังอยู่ตรงที่เดิมต่อไป ผมคงทำใจไม่ได้ เพราะว่าเรามีโอกาส มีความรู้ ความสามารถ เรามีโอกาสแต่เราไม่คว้าโอกาสนั้นไว้เพื่อ ทำให้ประเทศนี้มันดีขึ้นกว่าเดิม แล้วหลังจากนี้ไม่ว่าประเทศจะเป็นยังไงต่อไป มันจะรู้สึกผิดอยุ่ในใจตลอด เพราะว่า ณ ตรงนั้นมันเป็นจุดที่ให้เราโดดได้ แต่เราไม่ยอมโดด เราไม่ยอมคว้าโอกาสนั้น เพราะฉะนั้นผมเลยไม่เสียดาย ไม่เสียดายเลย
ประโยชน์ของการมีชีวิตอยู่สำหรับตัวผมเอง คือมันสร้างประโยชน์ให้กับคนรอบข้างได้มากขนาดไหน ผมคงจะไม่พอใจเท่าไรที่เราเกิดมาแค่เพื่อสร้างความสุขให้กับตัวเองแค่คนเดียว แล้วก็ตายหายจากไปโดยที่โลกนี้ก็ยังเหมือนเดิม วันที่เราเกิดมา กลับวันที่เราตายไป โลกเหมือนเดิมไม่ได้เปลี่ยนไป แต่ถ้าเราเกิดมา ถึงแม้เราจะเลือกเกิดไม่ได้แต่เราเลือกใช้ชีวิตที่จะโตขึ้นแล้วจะสรรค์สร้างอะไรให้กับโลกนี้ สร้างความสุขอะไรให้กับคนรอบตัวของเรา ผมมองว่าเป็นชีวิตที่น่ามีเป็นชีวิตที่น่าใช้ ถ้าเกิดทำได้จริงๆ จะตายตอนไหนก็ไม่เสียดาย ไม่ต้องอยู่ยัน 60 80 ก็ได้ ผมไม่ได้เสียใจ เสียดายอะไรเลย ตอนนี้ผมว่าผมอยู่ถูกที่แล้ว เจอบ้านแล้วในที่แห่งนี้
นักบินนักการเมืองเหมือนต่างกันยังไงบ้าง
กู๊ดดี้-ชยพล สท้อนดี : เอาจริงจะว่ามันเหมือนกันก็ไม่ได้เหมือนกันเหมือนเทียบ 1:1 เพราะว่ามันก็คนละอาชีพกันเลย นักบินก็เป็นอาชีพแบบขนส่ง ส่วนอาชีพของนักการเมืองจะเป็นอาชีพของ การบริหาร แต่ถ้าเราจะมองในอีกแง่มุมนึงก็ได้ ตรงที่มันมีความคล้ายกันตรงที่จะต้องพาคนจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง จุด A ไปจุด B จุด 1 ไปจุด 2 นักบินก็คือพาแอร์พอร์ทหนึ่งไปอีกแอร์พอร์ทหนึ่ง และก่อนที่เราเริ่มเดินทางไป เราต้องวางแผนว่าเราจะเดินเส้นทางไหน เราจะไปยังไงบ้าง เราจะบินที่ระดับความสูงเท่าไร ต้องใช้น้ำมันเท่าไร ผู้โดยสารมีแค่ไหน เราต้องดูแลผู้โดยสารยังไงบ้าง ตรงนี้ก็คือการวางแผน ซึ่งการจะเป็นนักการเมืองเราก็ต้องวางแผนเหมือนกันว่าเราจะพาประเทศ พาประชาชนจากความก้าวหน้าของยุคปัจจุบันไปสู่ความก้าวหน้าของอนาคต เราจะพาเขาไปยังไง เดินทางไปเส้นทางไหน เราต้องเตรียมงบประมาณยังไงบ้าง แล้วทำไงให้มันไปรอดจนถึงฝั่ง มันจะคล้ายกันในแง่นี้
แต่เอาจริงๆผมมองว่าการเมืองสำหรับผมใกล้เคียงต้มแซ่บมากกว่า เหมือนเราอยู่ในโรงอาหาร แล้วเราเดินไปสั่งร้านอาหารว่าเอาต้มแซ่บ 1 ชาม เขาจะชอบให้มาล้นๆ จะเป็นชามล้นๆที่มีจานรองมาอีกใบ อยากให้นึกภาพต้มแซ่บนั้น ของที่อยู่ข้างในชามคือประชาชน ไอ้ตัวชามและถาดที่เราถืออยู่คือประเทศ และทุกอย่างก้าวไปตามที่เราเดิน คือความก้าวหน้าของประเทศ และคนที่เดินถือถาดอยู่คือคนบริหารประเทศ ถ้าเราจะเดินไปให้ถึงโต๊ะเราก็ต้องค่อยๆเดินพยุงไปเพื่อให้คนที่มันอยู่ในชามนั้นมันยังอยู่ในชามนั้นต่อ และเมื่อไรที่เรารีบเดิน มันจะค่อยๆกระซอก ค่อยๆหก แล้วคนที่พอมีฐานะทางสัมคมอยู่บ้าง พอที่จะตามทัน เขาก็จะหกอยู่ในจานหรือถาด มันก็ยังพอไปถึงเป้าหมายกับเราได้ ถึงจะไปแบบทุลักทุเลหน่อย มันก็ยังไปถึงโต๊ะได้ มันยังมีคนอีกหลายคนที่ถ้าเรารีบเดินเกินไป แล้วหลายๆคนก็ปรับตัวตามไม่ทัน กลายเป็นว่าเขาหกอยู่ตามทางมันก็รู้สึกแย่นะที่เราต้องทิ้งเขาไว้ตามทาง เพราะเราอยากจะก้าวหน้า อยากจะไปถึงปลายนทางเร็วเกินไป
ดังนั้นตรงนี้ผมก็มองว่ามีความคล้ายกันของการเมือง การบิน และการถือต้มแซ่บ คือเราสามารถจะพาประเทศไปสู่เป้าหมายความเจริญได้ ซึ่งมันจะต้องมีการก้าวหน้าไปตลอดอย่างเหมาะสม แต่ว่าในขนาดเดียวกันเราก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับคนที่อยู่ในประเทศเราด้วย ว่าเขาต้องพร้อมที่จะเดินทางไปกับเรา แล้วเราต้องค่อยดูแลเขา จูงมือเขา ในการที่ให้เขาปรับตัว ให้เขาเปลี่ยนแปลงไปตามโลกได้ ให้เขาสามารถไปถึงปลายทางกับเราได้
ถ้าจัดกิจกรรมให้คนรุ่นใหม่ 1 กิจกรรม จะจัดอะไรเพราะอะไร
กู๊ดดี้-ชยพล สท้อนดี : เอาจริงๆผมมองว่าคนรุ่นใหม่จะมี identity crisis ค่อนข้างเยอะค้นหาตัวเองไม่ค่อยเจอ ส่วนหนึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องของการศึกษาด้วยที่เราไม่ได้อนุญาตให้เด็กไทย export ได้ว่าเราอยากจะเป็นอะไร อยากจะเป็นใคร สมมุติเราอยากจะเป็นดารา หรือ YouTuber ขึ้นมา โรงเรียนสามารถให้ประสบการณ์เราได้ไหม ในการที่เราจะกลายเป็น YouTube Ber คนนึง ถ้าเกิดผมอยากจะเป็นช่างภาพ โรงเรียนสามารถที่จะสอนอะไรผมได้ไหม โรงเรียนมัธยมไม่สามารถจะสอนอะไรผมได้เลย หรือแม้กระทั่งจะแนะแนวคณะที่เป็นคณะถ่ายรูปให้ผมยังไม่ได้เลย กิจกรรม 1 อย่างที่ผมอยากจะจัดให้กับเยาวชนของประเทศเราคือกิจกรรมของการ export เป็นตัวเอง เราอยากจะให้ทุกคนทำทุกอย่าง แนะแนวให้มันครบทุกด้านจริงๆ
ถ้าคุณอยากลองอะไรต้องมีสิ่งนั้นให้คุณได้ลอง คุณอยากลองทำอาหารไหม คุณลองดูได้ คุณอยากเป็นช่างภาพไหม คุณลองดูได้ อยากให้เขาลองสัมผัสลองไปเข้าค่ายดู เรามีค่ายแบบนี้นะ ค่ายสำหรับนักกีฬา ศิลปิน ไอดอลออนไลน์ คนที่อยากจะเป็นนักเต้น คนที่อยากจะเป็นทหาร ให้เขาได้ export ได้ลอง นี่คือกิจกรรมที่ผมอยากทำจริงๆ ที่ทุกๆปิดเทอมเด็กๆ สามารถเลือกได้ว่าอยากทำอะไร อยากที่จะลองอะไร ลองสัมผัสมันจริงๆว่ามันทัชกับเรารึป่าว ใช่ตัวเรารึป่าว ว่าเราชอบสิ่งนี้รึป่าว ซึ่งตรงนั้นเขาสามารถเอาไปต่อยอดกับคณะในมหาวิทยาลัยที่เขาอยากเรียนต่อ แล้วเขาไม่จำเป็นต้องมาเสียเวลาในการซิวในการไปค้นคว้าหาตัวเอง ในการที่จะต้องทนเรียนต่อไปอีก 4 ปี เพื่อจบไปทำงานที่ไม่ตรงสาย มันเป็นอะไรที่เสียเวลามาก เราเสียเวลา เราเสียแรง เราเสียเงิน เราเสียบุคลากรไป เราเสียความหวัง เราเสียอนาคตของประเทศไป เราเสียไปเยอะมากเพียงเพราะเราไม่มีเสรีภาพให้เขา ในการลองในสิ่งที่ตัวเองอยากลอง เพียงแค่สังคมกำหนดไว้ว่าถ้าเธออยากเป็นเด็กดี เป็นเด็กเก่ง เธอต้องไปเป็นวิศวกร ต้องไปเป็นหมอ เป็นข้าราชการ เป็นทหาร เธอต้องมีอาชีพ เธอต้องเป็นทนาย มันกลายเป็นว่าไม่มีใครสามารถโตขึ้นมาเป็นตัวของตัวเองได้ ผมไม่สามารถเป็นกู๊ดดี้ได้ เพราะว่าผมก็ต้องไปเป็นทหารมาก่อน พอจะเข้ามหาวิทยาลัย ก็ต้องไปเป็นวิศวกรมาก่อน ไปเป็นนักบินต่ออีก ผมก็ไม่สามารถจะเป็นกู๊ดดี้ได้สักทีทั้งที่ความจริงแล้ว ตัวเองอยากจะเป็นอย่างอื่นก็ได้
ความจริงก็มีความฝันว่าอยากจะเป็นช่างภาพ อยากจะเป็นเจ้าของร้านอาหาร อยากจะเป็นนักจิตวิทยา แต่ด้วยความที่สังคมไม่ได้เข้าใจอาชีพเหล่านี้ บอกว่าเป็นทำไม รายได้ไม่มี หาเงินยาก เรียนไปไม่มีประโยชน์อะไร เป็นวิศวกรดีกว่า สามารถชี้แจงได้ สามารถเล่าได้เป็นขั้นตอน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนใหญ่คนโตในวงการนั้น อาจจะเป็นพี่ในวงการนั้นๆที่สามารถแนะแนวได้ มาทำค่ายรวมกัน มาทำงานร่วมกันเพื่อที่จะแนะแนวกันว่านี่คือสิ่งที่เธอต้องเจอนะ เธออยากจะเจอไหม นี่คือสิ่งที่เธอจะรักมันจริงๆรึป่าว เธออยากเป็นต่อจริงๆใช่ไหม เพราะสิ่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอไปตลอด