“หุ่นพยนต์” เป็นเครื่องรางไสยเวทที่มีประวัติการสร้างตั้งแต่สมัยพุทธกาล คงความขลังปนความน่าสะพรึงแก่ผู้ที่ได้สัมผัส การทำหุ่นพยนต์จะถูกปลุกเสกด้วยกระแสจิตจากผู้มีฤทธิ์คาถาอาคม ซึ่งจะมีทั้งสายให้คุณปกป้อง(สายขาว)และจ้องทำลาย(สายดำ)
ซึ่งความเชื่อของหุ่นพยนต์นี้เอง ได้รับการหยิบขึ้นมาทำเป็นหนังสยองขวัญท้าทายความเชื่อที่กำกับโดย ไมค์-ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ ผู้กำกับหนัง 100 ล้าน จากภาพยนตร์ พี่นาค1 ถึง พี่นาค3 บอกเล่าเรื่องราวของความเชื่อและความไม่เชื่อ เดินเรื่องผ่านตัวละครอย่าง ธาม, เต๊ะ, นิก ที่มีชีวิตมาเป็นเดิมพันเพราะถ้าเล่นกับความงมงาย ท้าทายกับศรัทธา ต้องกล้าเผชิญหน้ากับสิ่งที่มองไม่เห็น บอกผ่านกิเลสความจริงของมนุษย์ที่มีด้านมืดแฝงตัวอยู่
โดยในภาพยนต์เรื่องหุ่นพยนต์นี้ได้รับการตอบรับจากดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงมากมาย ภูวิน-ภูวินทร์ ตั้งศักดิ์ยืน, อัพ-ภูมิพัฒน์ เอี่ยมสำอาง,นิก-คุณาธิป ปิ่นประดับ, เจมส์-ภูริพรรธน์ เวชวงศาเตชาวัชร์, เอมี่-ทสร กลิ่นเนียม ฯลฯ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยออกแถลงการณ์เรื่องผลการพิจารณาจัดเรตภาพยนตร์เรื่อง ‘หุ่นพยนต์’ ระบุว่า จากกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีคำสั่งให้ภาพยนตร์เรื่องหุ่นพยนต์ ของ ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ ต้องตัดทอนฉากต่างๆ ออก เพื่อให้ได้รับ เรท ฉ 20- มิฉะนั้นภาพยนตร์จะถูกห้ามฉาย
ซึ่งคำสั่งที่เกิดขึ้นนอกจากจะส่งผลกระทบต่อผู้สร้างภาพยนตร์ คนทำงานแล้ว ก็ยังส่งผลกับผู้ชมภาพยนตร์ทั่วไปที่ถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการชมภาพยนตร์ ด้วยคำสั่งที่มาจากดุลยพินิจของคนเพียงไม่กี่คน เพราะแม้จะมีการจัดเรตติ้งภาพยนตร์แล้ว แต่คณะกรรมการก็ยังสามารถสั่งตัดทอนเนื้อหาภาพยนตร์ และสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ได้โดยยึดดุลยพินิจของคณะกรรมการเป็นหลัก
สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยเห็นด้วยกับการใช้ระบบเรตติ้งภาพยนตร์ เพื่อจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์สำหรับผู้ชมภาพยนตร์ตามช่วงวัย แต่สมาคมฯ ขอคัดค้านการใช้อำนาจของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในการตัดทอนเนื้อหาของภาพยนตร์และการแบนภาพยนตร์ในทุกกรณี และขอคัดค้านผลการพิจารณาภาพยนตร์ในครั้งนี้ และจะร่วมมือกับผู้ผลิตภาพยนตร์และผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘หุ่นพยนต์’ ในการคัดค้านผลการพิจารณา และดำเนินการในขั้นต่อไป
สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยขอเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายภาพยนตร์ จากการที่พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ไม่เพียงแต่ไม่ก่อให้เกิดการสนับสนุนวงการภาพยนตร์ไทยอย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้น ยังเน้นเพียงแต่ให้ภาพยนตร์ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบราชการ จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปกฎหมายนี้เพื่อคืนสิทธิเสรีภาพในการผลิตและรับชมภาพยนตร์ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ และเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์กับวงการภาพยนตร์และประชาชนอย่างแท้จริง
คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม มีมติที่ประชุม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 และ 26 แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีมติ ให้แก้ไขฉากต่างๆดังนี้
1. ตัดฉากชื่อวัดเทพหุ่นพยนต์
2. ตัดฉากเณรชกต่อยในผ้าเหลือง และให้มีคำหยาบคายให้น้อยลงเท่าที่จะสามารถจะทำได้
3. ตัดฉากคลุกอาหาร เหมือนรังแกให้เด็กชื่อเต๊ะกิน
4. ตัดฉากเณรกอดผู้หญิงในการต่อสู้ฉากหนึ่งในภาพยนตร์
5. ตัดฉากท่องศีล (ข้อที่ 2) ในขณะที่ฆ่าคนที่ขโมยของ
สำหรับเรตติ้ง ฉ20- หมายถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู โดยลักษณะของภาพยนตร์ : มีลักษณะแสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ หรือการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองหรือผู้อื่น หรือแสดงวิธีการก่ออาชญากรรมซึ่งอาจจูงใจหรือส่งเสริมให้เลียนแบบ หรือแสดงวิธีการใช้สารเสพติด หรือลัทธิหรือคำสั่งสอนที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีหรือขนบธรรมเนียมประเพณีหรือจูงใจให้หลงเชื่อ
แหล่งที่มาและข้อมูล : สมาคมผู้กำกับภาพยนต์ไทย, ข่าวสด
ติดตามข่าวสารวงการบันเทิงได้ที่ FEE:D