ในขณะที่ซีรีส์สัญชาติเกาหลี ใต้ร่มราชินี (Under the Queen’s Umbrella) ยังคงขับเคี่ยวช่วงชิงอำนาจภายในพระราชวัง (เล่าย้อนหลังอดีตกว่า 500 ปีของเกาหลีสมัยโน้น) กันอย่างเข้มข้น พร้อมกับโกยเรตติ้ง ทั้งในประเทศเกาหลีเอง และอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ติดใจกับบทบาทของราชินีอิมฮวารยอง กันจนแทบจะลงแดง รอตอนใหม่ในแต่ละสัปดาห์กันอย่างใจจดใจจ่อนั้น
The Crown ซีซัน 5 ซีรีส์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (Queen Elizabeth II) ประมุขแห่งสหราชอาณาจักร ผู้พยายามนำพาราชวงศ์วินเซอร์แห่งอังกฤษ ฝ่ามรสุมสารพัดทิศทาง ก็ปิดซีซั่นที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็น ทศวรรษแห่งหายนะ เต็มไปด้วยบาดแผล ความร้าวฉานภายในครอบครัว อันนำไปสู่วิกฤตศรัทธาต่อราชวงศ์วินเซอร์อย่างหนักหนาที่สุดด้วยเช่นเดียวกัน
The Crown season 5
หากจะเปรียบ The Crown ซีซัน 4 คือช่วงเวลา ฮันนีมูนพีเรียดจากการเข้ามาของ ไดอาน่า สเปนเซอร์ ผู้กลายมาเป็น เจ้าหญิงแห่งเวลส์ อันเจิดจ้า จับตาจับใจคนทั่วโลก ส่งผลให้สถานะความนิยมของราชวงค์วินเซอร์ ได้พุ่งทะยานสู่จุดสูงสุด ไปเรียบร้อยแล้ว เหตุการณ์ที่ติดตามมาในซีซันที่ 5 คือช่วงเวลา “หมดโปรฯ” สำหรับชีวิตรัก และครอบครัวที่คนทั้งโลกเคยอิจฉา ที่สำคัญสิ่งที่ต้อง pay back นั้นหนักหนา และหนักหน่วงยาวนาน
ทศวรรษที่ 5 บนบังลังก์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 คือการตกต่ำ ดำดิ่ง เมื่อมรสุมแห่งวิกฤติถาโถมเข้ามาชุดแล้วชุดเล่า สถาบันกษัตริย์ กลายเป็นเป้าการวิพากษ์ของประชาชน เช่นเดียวกับที่นักการเมือง สื่อ ผสมโรงร่วมถล่มเข้าใส่อย่างต่อเนื่อง ราชวงศ์ และผู้คนแวดล้อมถูกตีตราว่าเป็นตัวแทนของ ความเชย ล้าสมัย ตกยุค ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย และคำถามที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ก็คือประเด็นที่ว่าคุ้มค่าหรือไม่ที่จะต้องเอาภาษีไปสนับสนุน
The Crown season 5
เรือหลวงบริทาเนีย ที่ถูกนำมาใช้เปิดเรื่อง เปิดประเด็น จึงเป็นทั้งความยิ่งใหญ่และความภาคภูมิใจ (ที่ผูกติดกับอดีต) ขณะเดียวกันก็กลายเป็นปมปัญหาเมื่อทั้งพระราชินี และดยุคแห่งเอดินเบอระ พระสวามี มีพระราชประสงค์จะให้รัฐบาลนำงบประมาณมาบูรณะซ่อมแซม พระราชพาหนะที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของสหราชอาณาจักร ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยสำหรับ จอห์น เมเจอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น เขาคือผู้พยายามประสานพร้อมทั้งตักเตือนอย่างสุภาพว่าสถานะความนิยมของสมเด็จพระราชินี รวมถึงสถานภาพของผู้คนในราชวงศ์วินเซอร์ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเทพนิยายรักของเจ้าชาย เจ้าหญิง แห่งเวลส์ เปลี่ยนพล็อตเรื่องหลักกลายเป็นมหาสงครามแห่งความขัดแย้งของคู่สามีภรรยา (อันนำไปสู่จุดจบที่การหย่าร้าง) ก็ยิ่งฉุดให้ศรัทธา ความนิยม ตกต่ำดำดิ่งลง หนักขึ้นเรื่อยๆ
ทีมผู้สร้างซีรีส์ก็จงใจที่จะโฟกัสประเด็นสงครามภายในครอบครัว ทั้งขยาย ขยี้ เรื่องราวที่อิงจากเหตุการณ์จริง ไม่ว่าจะในกรณีที่เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ไปให้ข้อมูลกับ แอนดรูว์ มอร์ตัน เขียนหนังสือเล่มที่เขย่าโลก Diana: Her True Story ที่เป็นเสมือนการวางเพลิงพระราชวังบัคกิ้งแฮมซ้ำ สร้างความเสียหายมากกว่าเหตุการณ์ไฟไหม้พระราชวังวินด์เซอร์ จริงๆ เสียอีก
เรื่องร้ายๆ ทั้งหมดพร้อมใจกันเกิดขึ้นจริงในปีเดียวกันนั้นด้วย (ค.ศ.1992) โดยก่อนหน้านั้น ราชวงศ์วินเซอร์ต้องรับมือกับข่าวอื้อฉาว ครอบครัวร้าวฉานมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งกรณีการหย่าร้างของ เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก กับ ซาราห์ เฟอร์กูสัน ดัชเชสแห่งยอร์ก รวมถึงกรณีของ เจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารีในสมเด็จพระราชินีนาถ และกัปตัน มาร์ค ฟิลลิป ก็ตัดสินใจหย่าร้างกันในปีดังกล่าวด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น การที่เจ้าชายแห่งเวลส์ เลือกที่จะตอบโต้หนังสือ Diana: Her True Story ด้วยการให้สัมภาษณ์ รายการโทรทัศน์ ก็ยิ่งสุมไฟแค้น ประกาศสงครามอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้ ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ก็เลือกที่จะให้สัมภาษณ์บันทึกเทปครั้งประวัติศาสตร์กับทาง BBC เพื่อเอาคืนบ้างเช่นกัน
นอกจากภาพดุเดือดในการต่อสู้ของ เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ที่เข้มขันและซับซ้อนแล้ว ประเด็นสำคัญที่ถูกนำเสนอตลอดทั้ง 10 EP ของ The Crown ซีซันนี้ นั่นคือ การตั้งคำถามสำคัญว่า สถาบันกษัตริย์ ราชวงศ์วินเซอร์ กับความภาคภูมิใจในเกียรติประวัติอันเก่าแก่ ขรึมขลัง จนยากที่จะปรับเปลี่ยนไปตามโลกและความคิดของผู้คนร่วมสมัยนั้น ท้ายที่สุดแล้ว จะดำรงอยู่หรือเปลี่ยนผ่านไปอย่างไรให้เหมาะสม
The Crown season 5
หากไม่นับชีวิตรักและชีวิตครอบครัวที่ซับซ้อนวุ่นวายแล้ว เจ้าฟ้าชายชารล์ส (ซึ่งปัจจุบันได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าชารล์สที่ 3) รัชทายาทผู้เฝ้ารอและเตรียมความพร้อมที่จะเป็นประมุขของสหราชอาณาจักรมาอย่างยาวนาน ถูกนำเสนอภาพให้เป็นตัวแทนของความ “ร่วมสมัย” มีแนวคิดที่เป็นขั้วตรงข้ามกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมอย่างชัดเจน ให้ความสำคัญกับ “คนรุ่นใหม่” เปิดกว้างรับสิ่งใหม่ ทั้งยังแสดงเจตจำนงชัดเจนว่า ควรปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษ ให้สอดคล้องกับยุคสมัย และเสียงเรียกร้องของประชาชนส่วนใหญ่
ในขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ปักหลักตั้งมั่นอยู่กับหลักปฏิบัติที่สืบทอดส่งต่อกันมา (ย้อนกลับไปได้ถึงยุคพระนางวิคตอเรีย ยุคทองอันรุ่งเรืองของสหราชอาณาจักร) และทรงพยายามประคับประคองอย่างสุดกำลังเพื่อให้เกียรติภูมิ สิ่งดีงามที่เคยเป็นมาดำรงอยู่ต่อไป
และในช่วงท้ายของซีซันนี้ เชื่อว่าผู้ชมก็อดใจหายไปด้วยไม่ได้ เมื่อภาพจริงที่ปรากฎ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ถูกบีบให้ต้องทรงยอมรับว่าที่สุดแล้ว ไม่สามารถยื้อยุดกับความเปลี่ยนแปลงที่หมุนไปตามเข็มนาฬิกาได้ ไม่ว่าจะเป็น ชิ้นส่วนต่างๆ ในครอบครัวที่แตกกระจัดกระจาย, เจ้าชายแห่งเวลส์ , เกาะฮ่องกง และแม้กระทั่ง เรือบริทาเนีย ที่ดูเหมือนจะมีคุณค่าทางจิตใจมากกว่าเป็นเพียงแค่เรือพระราชพาหนะลำหนึ่งเท่านั้น
The Crown season 5
ท้ายที่สุด แม้ทีมผู้สร้างจงใจจะขยี้ซ้ำ จนทำให้เรื่องเดินไปอย่างยืดย้วย (เพื่อสร้างความเข้าใจในบุคลิก, วิธีคิดที่ซับซ้อนของตัวละครหลัก) แต่ด้วยพลังฝีมือในการแสดงของ 3 นักแสดงหลักอันได้แก่ เอลิซาเบธ เดบิกกี ผู้รับบท ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ , โดมินิก เวสต์ ผู้รับบทเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และ อิเมลดา สตอนตัน ผู้รับบทควีนเอลิซาเบธ ก็ช่วยให้ซีรีส์ที่เนื้อหาหนักหน่วงในซีซั่นนี้ มากไปด้วยคุณค่า คู่ควรแก่การรับชมเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับผู้ชมแล้วนี่คือ The Crown season 5 ที่ดูแล้วเหน็ดหนื่อย หนักหน่วง ราวกับเอสเพรสโซ ดับเบิลช็อต กระนั้นก็เป็นรสชาติเข้มขมที่กลมกล่อม และชวนให้คิดต่อในอีกหลายแง่มุมได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน