บรรยากาศการเลือกตั้งครั้งแรกในไทย เป็นอย่างไร?อ่านบทวิจารณ์ จาก ประชาชาติ ฉบับ 15 พฤศจิกายน 2476
การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรก และครั้งเดียวของไทย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 (นั่นหมายความว่า พฤศจิกายน 2566 ก็จะครบรอบ 90 ปี ของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก) โดยเลือกผู้แทนตำบลก่อน และให้ผู้แทนตำบลทำการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดนั้นอีกต่อหนึ่ง โดยถือเอาจำนวนราษฎร 200,000 คน ต่อผู้แทนราษฎร 1 คน
บรรยากาศหลังจากการเลือกตั้งครั้งแรกในครั้งนั้น หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน 2476 ได้รายงานไว้เต็ม 1 หน้ากระดาษ มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
1.การเลือกตั้งครั้งแรกนี้เกิดขึ้นหลังจากกบฏบวรเดช ในเดือนตุลาคม 2476
2.ผู้แทนราษฎรที่รับเลือกในครั้งนั้น เป็นพ่อค้ากับนักกฎหมาย แต่ทางประชาชาติแนะนำว่าอยากให้ผู้แทนฯ เป็นเกษตรกรเข้ามาบ้าง
3.คณะกรรมการตรวจคะแนนเสียง (คงคล้าย กกต.ในปัจจุบัน) ทางประชาชาติแนะนำว่า คณะกรรมการนั้นควรมี “ราษฎร” เข้าไปเป็นกรรมการด้วย ไม่ใช่มีเพียงแต่ข้าราชการที่เข้าไปเป็นกรรมการ
เพื่อเป็นการสืบทอดอายุเอกสารเรื่องนี้ ทางศูนย์ข้อมูลมติชนได้คัดเนื้อหาข่าวทั้งหมดมาให้อ่านกัน ซึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ได้มาจาก หอสมุดแห่งชาติ ห้องสมุดดิจิทัล
“แม้ว่าจะเปนในยามยุ่งยากลำบากอย่างที่สุด นับแต่ประเทศสยามได้มีรัฐธรรมนูญเปนต้นมา โดยที่รัฐบาลต้องประสพภาระอันหนัก ต้องทำการต่อสู้ปราบปรามพวกกบฏตั้งแต่เริ่มมีเหตุตลอดมาจนบัดนี้ก็ดี บรรดารัฐกิจที่สำคัญๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ก็ได้บริหารการให้ดำเนินลุล่วงไปเปนลำดับ. สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดการประชุมตามวาระอันปรกติ และได้ประกอบกรณียกิจโดยสมควรแก่กาลเทศะ เปนต้นได้ถวายคำปรึกษาว่าสมควรที่จะจัดการป้องกันรักษาความศักดิสิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2476 ขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร แต่เมื่อวันที่ 5 เดือนนี้
เฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั่วพระราชอาณาจักร์สยาม ซึ่งหวั่นเกรงกันว่า จะถูกระทบกระเทือน เพราะการกบฏครั้งนี้บ้างไม่มากก็น้อย ในที่สุด ก็ปรากฏว่าได้ดำเนินไปเปนอันดี และกำหนดวันเปิดสภา ซึ่งกอปร์ด้วยสมาชิกผู้แทน 2 ประเภท ตามกำหนดเดิมว่าจะเปิดในวันที่ 10 ธันวาคมนั้น ก็มิได้มีการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลคงยืนยันความปรารถนาเดิมอยู่. ยิ่งกว่านั้นยังได้จัดตั้งกรรมาธิการดำริจัดการมหกรรมรื่นเริงอย่างมโหฬาร เปนการฉลองวันรัฐธรรมนูญและวันเปิดสภานั้นด้วย ทั้งนี้ควรเปนที่ยินดีอย่างยิ่งแก่ประชาชนทั่วไป ในการดำเนินรัฐกิจของรัฐบาลนี้ ที่ไม่ขาดตกบกพร่องในกรณีสำคัญ.
การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรที่ได้กระทำสำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้วหลายจังหวัดนั้น เมื่อได้ตรวจดูรายนามผู้แทนราษฎรตามที่ได้นำลงในหนังสือของเราแล้ว ก็เปนที่พอใจอยู่ข้อหนึ่ง ที่ผู้แทนตำบลมิได้ถือเอายศถาบรรดาศักดิ์อันสูงส่งหรือความมั่งคั่งของผู้สมัคร์รับเลือกเปนจุดที่หมาย แต่หากอนุมานเอาด้วยความพึงพอใจว่า ผู้สมัคร์รับเลือกผู้นั้นผู้นี้จะอำนวยประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้แก่บ้านเมืองของเขาได้แล้วเขาก็ลงคะแนนเสียงให้ จึ่งปรากฏว่าผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเปนผู้แทนราษฎรเปนเพียงนายนั่นนายนี่เสียก็มาก และในจำนวนเหล่านี้ก็มีพ่อค้าและนักกฎหมาย และแม้ว่าจะมีทนายความหนาตาอยู่สักหน่อย ก็ดูไม่แสดงข้อบกพร่องอย่างไร. ข้อที่จะพึงเอาใจใส่เปนห่วงอยู่บ้างก็คือ ผู้แทนของเราที่เปนกสิกรยังขาดอยู่ แต่เราหวังว่าเมื่อการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้กระทำสำเร็จเสร็จสิ้นตลอดทั่วพระราชอาณาจักร์แล้ว เราคงจะได้ผู้แทนราษฎรที่มีความรู้กว้างขวางในทางกสิกรรมและในชีวิตของกสิกรบ้างตามสมควร. การเลือกตั้งในบางแห่งอาจจะมีการแข่งขันต่อสู้ที่ไม่งดงามเจือปนอยู่บ้าง ซึ่งเปนธรรมดาของการแข่งขัน แต่เมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้ว ก็นับว่าการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของเรา ได้ดำเนินมาอย่างเปนที่น่าพอใจมาก.
ในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรนี้ มีข้อที่กระทบใจเราอยู่ข้อหนึ่ง คือการแต่งตั้งกรรมการตรวจคะแนนเสียง ซึ่งในพระราชบัญญัติได้มอบอำนาจอันนี้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด. เราได้ตรวจดูรายนามกรรมการตรวจคะแนนเสียงของจังหวัดต่างๆ เท่าที่ปรากฏมาแล้วในหนังสือพิมพ์นี้ ก็ได้พบกรรมการที่กอปร์ด้วยยศถาบรรดาศักดิ์เสียโดยมาก. เราออกประหลาดใจนิดหน่อยว่า ตามจังหวัดต่างๆ จะหาราษฎรสามัญแท้ๆ ซึ่งมีคุณสมบัติสมควรที่พอจะแต่งตั้งให้เปนกรรมการเพียงสักคนหนึ่ง ในจำนวนกรรมการเพียงสักคนหนึ่ง ในจำนวนกรรมการ 3 คนนั้น จะหาไม่ได้เทียวหรือ?
เราประหลาดใจยิ่งขึ้นอีกหลายเท่า เมื่อได้ทราบว่าจังหวัดธนบุรีและพระนคร ซึ่งถือกันว่า เปนที่ชุมนุมของราษฎรที่มีวิชาความรู้ มีกรรมการตรวจคะแนนเสียงการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ปรากฎนามดังต่อไปนี้คือ เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน พระยาภักดีนรเศรษฐ เปนกรรมการตรวจคะแนนเสียงจังหวัดพระนคร. เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี พระยาภักดีนฤเบศ พระยาสีหราชฤทธิไกร เปนกรรมการตรวจคะแนนเสียงจังหวัดธนบุรี. แม้กรรมการสำรองอีก 6 นาย คือพระบรรณศาสน์สาธร หลวงวิจิตรสารา หลวงวิเศษภักดี หลวงจรูญประศาสน์ หลวงพูนจำนวนผล ขุนเลขสารสฤษดิ์. เราไม่เข้าใจว่าทำไมราษฎรสามัญแท้ๆ ที่เปล่าเปลือยด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ ในจังหวัดอันรุ่งเรืองที่สุดของสยามประเทศนี้ จึ่งไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจคะแนนเสียงแม้แต่เพียงสักคนหนึ่ง.
ในบรรดาท่านผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เปนกรรมการตรวจคะแนนเสียงนั้น เราก็เห็นว่าเปนผู้ที่น่านับถือและสมควรแก่หน้าที่นี้ทั้งสิ้น แต่การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรนี้ เปนกิจของราษฎรโดยตรง ถ้าท่านผู้รักษาราชการของทั้งสองจังหวัดนี้จะได้คำนึงถึงว่าราษฎรให้หน่วงหนักสักหน่อย และเลือกเฟ้นราษฎรสามัญที่มีคุณความดีนับหน้าถือตา เข้าเปนกรรมการตรวจคะแนนเสียง เพียงจังหวัดละหนึ่งคนเท่านั้นแล้ว ก็คงจะเปนการแสดงให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดอยู่บ้าง และก็คงจะช่วยให้โฉมการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร มีประพิมประพายในคำว่าราษฎรเด่นชัดยิ่งขึ้น”
โปรดอย่าลืมกดติดตามเพจ หรือ ช่องทางอื่นๆ ของ MatichonMIC ได้ที่ :
Line ID : MatichonMIC
Website http://www.matichonelibrary.com
Instagram : http://www.instagram.com/matichonmic/
YouTube : http://bit.ly/YouTube_MIC