” ผมว่าคนเราไม่ทรยศกับโอกาสก็พอแล้ว เมื่อไหร่ที่คุณมีโอกาสที่ดี คุณก็ต้องคว้าไว้ และทำโอกาสนี้ให้ดีที่สุดแค่นั้นเอง”

วินาทีนี้เชื่อว่าทุกคนในประเทศนี้จะไม่มีใครไม่รู้จัก ชื่อ หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย พิธีกรเบอร์หนึ่งแห่งรายการโหนกระแส ผู้ทรงอิทธิพลแห่งปี 2564  ของ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต  เขาผู้นี้เริ่มต้นเข้าวงการบันเทิงด้วยการเป็นนักแสดงกับละครเรื่องแรก  เขาวานให้หนูเป็นสายลับ  และมีผลงานตามมาอีกมากมาย เขาเป็นดารานักแสดงที่มีข่าวขึ้นชื่อเรื่องความเจ้าชู้ จนขึ้นหน้าหนึ่ง แถมได้ฉายาว่า “ลิ้นเลี่ยมทอง” หรือแม้นแต่ “ไอ้อ้วนร้อยเมีย” ที่ตอนนี้ชีวิตกลับพลิกผันกลายเป็นคนข่าวพิธีแถวหน้าผู้ทรงอิทธิพลของประเทศไทย และครั้งนี้ FEED จะพาคุณไปรู้จัก เขาให้มากยิ่งขึ้นจากบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

FEED ความรู้สึกต่อตัวเองในวันนี้

ก็เหนื่อยครับ เพราะว่า จริงๆแล้วเราเป็นคนบันเทิงมาก่อน แล้ววันนี้พอต้องมาเดินทางสายข่าว มันก็เหมือนกับเปลี่ยนชีวิตเราทุกอย่างเลย เพราะว่าพิธีกรก็จะมาเป็นของโหนกระแส ก็จะเป็นฮาร์ดทอล์กเชิงข่าวอยู่แล้ว  แล้วก็ต้องมานั่งอ่านข่าวซึ่งเป็นข่าวเที่ยง เที่ยงวันทันเหตุการณ์ของช่อง 3 มันยิ่งไปกันใหญ่เลย บางคนอาจจะมองว่า ทั้งข่าวเที่ยง ทั้งโหนกระแสมันออกคู่กันมันน่าจะเป็นทางเดียวกันหรือเปล่า ต้องบอกว่ามันไม่ใช่ จริง ๆ แล้วการเป็นพิธีกรมันเป็นการที่เราไปรับรู้เรื่องของเขา นั่งฟัง แต่ในมุมของการเป็นผู้ประกาศข่าวมันคือการเอาเรื่องทั้งหมดของเขาไปเล่าให้คนอื่นฟังอีกทีหนึ่ง มันต่างกันนะ จากผู้ฟังกลายเป็นผู้เล่า มันต่างกันเลยระหว่าง 2 รายการนี้ เพราะฉะนั้นมันต้องทำการบ้านแบบควบคู่ มันก็เลยเหนื่อย ก็เลยหนักขึ้นไปหน่อยหนึ่ง

FEED จากเส้นทางของนักแสดงก้าวมาสู่บทบาทของคนข่าวได้อย่างไร

จริงๆ คงต้องบอกว่ามันเป็นดวง เป็นโอกาสมากกว่า เราเองก็เป็นนักแสดง เป็นดารา เล่นละครมาตลอด จนกระทั่งวันหนึ่งมีโอกาสได้เป็นพิธีกร เป็นรายการเกมโชว์ เป็นวาไรตี้ เป็นทอล์กโชว์อะไรแบบนี้ รายการผี รายการเด็กเราทำมาหมดแล้ว แล้ววันหนึ่งก็มีโอกาสได้ทำรายการที่ชื่อว่าเมืองไทยวาไรตี้ ของทางอาร์เอส ตอนนั้นเฮียฮ้อก็ให้โอกาสเลยได้ทำ ตอนนั้นทำกับพี่ฮาร์ท แล้วรู้สึกว่าเราชอบรายการแบบนี้ก็คือเป็นวาไรตี้กึ่งทอล์ก ที่เป็นประเด็นอยู่ในสังคม เป็นเรื่องของปัจจุบันทันด่วนอะไรแบบนี้ พอชอบขึ้นมาเราก็มีการเรียนรู้ ครูพักลักจำจากตัวพี่ฮาร์ทนั่นแหละ เพราะตอนนั้นแกเป็นนักข่าวด้วย แล้วแกก็เป็นสายสัมภาษณ์ด้วย เราก็เห็นแกทำงานมาตลอด สุดท้ายรายการก็เลิกราไป เราก็โหยหารายการแบบนี้ เพราะมันเป็นรายการที่เราชื่นชอบ

จนกระทั่งวันหนึ่งได้ทำรายการของช่อง 9 ชื่อรายการบอกเก้าเล่าสิบ ก็เป็นรายการลักษณะเหมือนกัน ทำกับมดดำ หลังจากนั้นก็เลิกไป ผมก็เลยมาทำรายการชื่อว่าปากโป้ง ก็ยังเป็นวาไรตี้ทอล์ก จนสุดท้ายมันมีการเปลี่ยนแปลง คือเปลี่ยนรูปแบบจากวาไรตี้นั่งทอล์กมาเป็นฮาร์ดทอล์กแบบเต็มๆ เรานั่งคนเดียวเลย หลังจากนั้นก็แยกย้ายกับช่อง 8 เพราะทางช่อง 8 เขาต้องการรายการใหม่ๆ ที่จะเข้ามาทำ ตัวเราเองก็อยากหาประสบการณ์ใหม่ๆ ก็เลยมีโอกาสได้มาทำรายการโหนกระแสที่ช่อง 3 ทำในช่อง 28 แล้วหลังจากนั้นก็มีโอกาสได้มาทำช่อง 33 หลังจากที่มีการคืนช่อง 28 ไป ในช่วงที่ทำโหนกระแสในช่อง 28 พอดีพี่ตั๋ม สุดบัณฑิต อยู่ที่ช่อง 3 แกเป็นคนทำงานคู่กับคุณอัมพร มาลีนนท์ ซึ่งคุณอัมพรเป็นผู้บริหารของช่อง 3 อยู่แล้ว แกก็มีความคิดทั้งคู่ว่า เออ หนุ่มมันทำรายการเชิงข่าวอยู่แล้ว คือเป็นการสัมภาษณ์ก็เลยถามว่าอยากจะลองไหมที่จะเป็นผู้ประกาศข่าว

คุณอัมพรก็เลยเรียกไปพร้อมกับพี่ตั๋ม ไปคุยว่าสนใจไหม อยากจะมาเป็นผู้ประกาศข่าวไหม เราก็ไม่คิดว่าเราจะทำ เพราะมันไกลตัวเรามาก แต่ทีนี้มาเรากลับมานั่งคิดแล้วตกตะกอนก็รู้สึกว่า จริงๆ แล้วผู้ใหญ่ยื่นโอกาสมาให้มันเหมือนคนถูกลอตเตอรี่เหมือนกันนะ ถามว่าเพราะอะไร เพราะว่าคนที่อยากจะมานั่งตำแหน่งผู้ประกาศข่าวของช่อง 3 แล้วเป็นข่าวหลักในตอนเที่ยงด้วย ผมเชื่อว่าน่าจะมีเป็นแสน เป็นล้านคน เราถูกเลือกมาแค่ 1 อาจจะเป็น 1 ในล้านที่ถูกคัดเลือกมา ไม่ได้คัดเลือกด้วย เราไม่ได้มาสมัครด้วย แต่เหมือนแกโยนมาให้ว่าทำไหม แล้วเราจะปฏิเสธมันก็คงไม่ใช่เรื่อง เราก็เลยโอเค โอกาสมันไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ คือผ่านไปอีกไม่รู้กี่ 10 ปี หรือทั้งชีวิตผมอาจจะไม่มีใครเลยที่จะมายื่นแล้วบอกว่าอ่านข่าวไหม เป็นข่าวหลักช่อง 3  ผมก็เลยกลับไปบอกนายว่าโอเคผมจะทำนะครับ  คุณอัมพรก็ถามว่าจะทำได้เหรอ ทำได้ใช่ไหม เพราะมันกินเวลามากนะ ต้องมีความรับผิดชอบนะ แต่เราอยากให้ทำ ผมก็โอเคผมทำ ผมจะทำ สุดท้ายก็มีโอกาสได้มาทำนี่แหละ”

แต่ตอนที่เข้ามาทำรายการใหม่ๆ ก็มักจะมีคนมาว่าผม สื่อเทียม ไม่ใช่สื่อ ไม่รู้จะนิยามว่าอะไร โน่นนี่นั่น เป็นสื่อกลาง เป็นคนกลางไม่ได้ มีทุกรูปแบบที่ผมถูกด่า คนข่าวด้วยกันนี่แหละ ที่เขารู้สึกว่าเขาเป็นตัวจริง บางทีก็คิดในใจ กูเป็นคนข่าวตัวปลอมตรงไหน แต่สุดท้ายก็ช่างมัน ผมคิดในใจแค่ว่าสิ่งที่เขาพูดก็เป็นแรงบันดาลใจ ผมไม่เคยโกรธพวกเขานะ ผมต้องขอบคุณพวกเขาด้วยซ้ำไป สิ่งที่เขาพูดแบบนี้แหละ ทำให้เรามีภาวะของการที่ต้องเอาชนะสิ่งที่เขาพูดให้ได้ ก็ต้องมีการพิสูจน์กัน วันหนึ่งผมก็ตั้งปณิธานในใจเลยว่า กูจะทำให้ดีกว่ามึงก็แล้วกัน สื่อเทียมคนนี้ ผมก็เลยจะไม่ทรยศกับสิ่งที่ผมพูดและทำไป

FEED เคยถามไหมว่าทำไมถึงเลือกเราเห็นอะไรในตัวเรา

ไม่เคยถามแกเลย ก็ยังแปลกใจอยู่ แต่ก็คิดในใจว่าแกก็คงเห็นเราทำ โหนกระแส แต่บางทีเราก็อยากจะบอกนายเหมือนกัน โอ้โห ไอ้การสัมภาษณ์คนกับการเอาเรื่องของคนอื่นมาเล่าให้ฟังมันต่างกันมาก แต่ไม่เป็นไร มันก็ยังมาหล่อเลี้ยงและสามารถทำการบ้านคู่กับโหนกระแสได้ เพราะเมื่อไหร่ที่เรารู้เรื่องของข่าวมากขึ้น เรามานั่งอ่านข่าว เราเห็นข่าวผ่านตาเรามากขึ้น วุฒิภาวะเราจะโตขึ้น เราจะเห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมมากขึ้น เราจะเห็นวิถีของมนุษย์มากขึ้น เห็นสูงต่ำดำขาวมากขึ้น เห็นความเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ที่เราเห็นในข่าวเที่ยง เราสามารถเอามาเก็บเกี่ยวเอามาเป็นประสบการณ์ ในการดำเนินรายการในโหนกระแสได้ มันสามารถทำให้เราคุมรายการได้อยู่มากกว่าที่เราเคยเป็น

FEED ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทตัวเองอย่างไร

ไม่ครับ ผมไม่ปรับเปลี่ยนอะไรเลย เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ผมไม่สามารถที่จะเป็นใครได้ ผมไม่สามารถกลับไปเปลี่ยนให้เหมือนใครได้ ผมทำได้ดีที่สุดคือเป็นตัวผมเอง แล้วผมก็แค่ยืนอยู่บนพื้นฐานของตัวเราเองอะไรอย่างนี้ สุดท้ายถ้าคนจะรัก เขาก็จะรักเราเองเหมือนเพลงนั่นแหละครับ เพราะฉะนั้นผมก็เชื่อว่าเจตนาในการทำงานของเราคือหนึ่งต้องบอกเลยว่าเราเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนจริงๆ เราอยากเป็นกระบอกเสียงคืออย่างน้อยไม่ได้เป็นส่วนมาก ผมไม่สามารถไปช่วยปัญหาแก้ไขปัญหาคนทั้งประเทศ คนทั้งโลกได้ แต่ผมเชื่อว่าผมแก้ไขปัญหาให้คนที่เฉพาะเขาที่ผมช่วยเขาได้ แล้วคนอื่นๆเห็น แล้วเขารู้สึกว่าทำแบบนี้แล้วมันช่วยได้แล้วเขาไปทำบ้างผมว่ามันก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นใน กลุ่มเล็กๆแล้วมันก็จะขยายเป็นวงกว้างขึ้นไป

FEED เคล็ดลับการเป็นพิธีกร

เคล็ดลับเหรอครับ เคล็ดลับไม่มี ก็สัมภาษณ์ คือเอาง่ายๆ ผมโชคดีตรงที่ว่า ผมไม่ใช่คนข่าวมาก่อน ผมเป็นคนบันเทิงแล้วก็มาทำข่าว เพราะฉะนั้นมันเป็นมุมของคนบันเทิง ชาวบ้านเขาทัชผมง่ายมากกว่าคนข่าว มันเป็นความโชคดี มันไม่ได้เป็นอะไรที่มันเป็นแบบเคล็ดลับเลย ผมว่าผมโชคดีมากกว่า แล้วอีกอย่างหนึ่งผมแค่รู้สึกว่าเพราะผมมีความโชคดีในการที่ผมอาจจะทำให้ชาวบ้านเขาแตะผมง่าย อีกอย่างหนึ่งผมเองผมรู้สึกว่าผมเป็นคนที่ทำงานเป็นพิธีกรมาเยอะ ผมเป็นนักแสดงมาก่อนเพราะฉะนั้นมันมีเรื่องของการละลายพฤติกรรมในการเล่นละครกับคนสักคนหนึ่งที่จะต้องเข้าฉากกับเรา เพราะฉะนั้นเวลาเรามาสัมภาษณ์สิ่งนี้ช่วยเราได้ คือการละลายพฤติกรรมแขกรับเชิญ สังเกตได้เวลาแขกที่มากับผม ผมจะคุยกับเขา คุยเล่น คุยกับเขาได้ สิ่งที่ผมอยู่ในรายการผมจะไม่จริงจัง ทำไมครับ เพราะอะไรถึงเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ไม่ครับ  ถ้าเป็นคนอื่นถามอาจจะถามว่าเพราะอะไรครับ คุณทำอย่างนี้ทำไม แต่ของผมไม่ใช่ ผมจะแบบ เอ่อ ผมขอโทษนะ ผมถามจริงๆ เถอะ โตขึ้นมายังไง โตมาแบบไหน เคยถูกพ่อตีไหม เคยถูกพ่อตีไหมหรือผัวเคยทุบไหม สามีเคยทุบไหมอะไรแบบนี้ ไม่มี ชีวิตคุณก็โอเค แล้วทำไมคุณถึงไปทำคนอื่น ไปทำเด็กทำไม คือมันเป็นตัวผม ผมเป็นแบบนั้นไง ชอบถามอะไรแบบนั้น

ผมไม่ใช่คนที่จะต้องมาทำไมอะไรยังไง เล่ายิกๆ ไม่ใช่ บางคนอาจจะดูผม แล้วบอกว่าอย่าไปรายการกรรชัยเลย ไปแล้วมันจะเอ๋อ เปล่าหรอก ผมเป็นคนที่ถามอะไรก็ถามเลย ผมรู้สึกว่าพอผมถามไปมันจะได้สิ้นสงสัย ผมไม่มีเล่ห์เหลี่ยมในการถาม ผมไม่มีการเอาคำถามเข้ามาสมมติ 1+1 เป็นเท่าไหร่ผมก็ถามไปเลยว่า 1+1 เป็นเท่าไหร่ครับก็ตอบมาสิว่า 2  แต่ถ้าเกิดว่าไปนั่งถามว่าจริงๆ แล้ว 1+1 น่าจะเป็นอย่างนี้หรือใน 1+1 น่าจะเป็น 2 เคยได้ยินอย่างนี้ มันเป็น 2 หรือเปล่า ที่คุณตอบไปแล้วว่ามันคือ 2 ไหม  แต่จริงๆ แล้วการทำพิธีกรที่ถูกต้องคือ 1+1 เป็นเท่าไหร่ แขกรับเชิญต้องตอบว่า 2 คุณไม่มีสิทธิ์ไปบอกว่าเออจริงๆ แล้ว 1+1 เคยได้ยินว่าเป็น 2 จริงไหมครับ หรือว่ามันเป็น 2 ใช่ไหมครับ ไม่ใช่ คุณตอบคำตอบเขาไปแล้ว คนมันไปถึงจุดไคลแมกซ์จากสิ่งที่คุณตอบไปแล้ว คนต้องการเสพคนที่ต้องตอบเรามากกว่า คือแขกรับเชิญ อันนี้จะเรียกว่าเป็นทริกหรือเปล่าไม่รู้ แต่ผมว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ผมเคยเป็นพิธีกรมาก่อนหน้าอะไรแบบนี้

FEED ใช้วิธีขอโทษก่อนเข้าคำถามแรงๆ

(หัวเราะ) ไม่ได้อย่างนั้นทุกครั้งหรอกครับ เพียงแต่ว่าจริงๆ แล้ว การที่ผมขอโทษไม่ใช่ขอโทษเพราะอยากจะด่าเขานะ ผมขอโทษเพราะว่าเราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราถามไปมันจะไปแทงความรู้สึกเขาไหม ก็เลยขอโทษออกไปก่อน ก็ค่อนข้างจะระแวดระวังในการทำงานพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการวนภาพในเหตุการณ์รุนแรง ผมก็จะบอกทีมงานในรายการหรือว่าเอาตามคำสั่ง กสทช. นะครับ วนได้ 2 ครั้ง เพราะมันมีความรุนแรง หรือแม้กระทั่งเรื่องของเด็ก ถ้าเกิดว่าผมได้สัมภาษณ์เด็ก ผมก็ต้องโทรถาม กสทช. ก่อน ทุกอย่างมีบรรทัดฐาน เราก็มีความจำเป็นที่จะต้องเดินตามไบเบิลที่เขาวางไว้ บางทีมันแหกคอกมากเกินไปไม่ได้ อย่างบางทีเอาเด็กมาสัมภาษณ์ แล้วไปถามคนที่มาด้วยว่าแม่เขาถูกฆ่ายังไง เด็กเขารู้เรื่องนะครับ เขาฟังอยู่ เขารู้นะเราต้องนึกถึงความรู้สึกเขาด้วยว่าเขาสูญเสีย อยู่ดีๆ คุณจะไปตั้งคำถาม ไปแทงจิตใจเด็กคนนั้นผมว่าไม่ถูกต้อง หรือแม้แต่จะหันไปถามน้องว่าขอโทษนะ ชีวิตน้องไปถูกเขารุมกระทืบมารู้สึกยังไง มาคงถามไม่ได้ มันถามไม่ได้ไง เพราะเหมือนเป็นการตอกย้ำความรู้สึกคน อะไรก็ตามที่มันเป็นการตอกย้ำแต่ความรู้สึกเขาหรือข่มขืนซ้ำอะไรแบบนี้มันไม่ควรอยู่แล้ว คนที่มีวุฒิภาวะต้องไม่ทำอะไรแบบนั้น

FEED เคสยากๆ สำหรับการเป็นพิธีกร

เยอะแยะมากมายครับเคสแบบนี้ บางครั้งผมก็รู้ว่าที่เขามานั่งเขาโกหกผมด้วยซ้ำ แต่ด้วยความที่เราเป็นพิธีกร เราเป็นคนสัมภาษณ์เพราะฉะนั้นเราก็ต้องให้เกียรติเขาเหมือนกัน ถามว่าเราถามไล่ๆ เขา สุดท้ายผมจะไม่ไล่เขาถึงตาย ผมจะไม่บอกถึงขั้นที่ว่า นี่คุณผิดนะ นี่คุณอย่างนี้ ผมจะไม่ สุดท้ายแล้วคนที่ตัดสินคือสังคมที่ดูอยู่เท่านั้นเอง บางเรื่องผมไม่ได้อยากทำเลย เพราะผมรู้สึกไม่อยากจะพูดกับคนนี้ ไม่อยากจะสัมภาษณ์คนนี้ แต่สุดท้ายมันคืองานของเรา

เราเคยพูดเคยคิดในใจอยู่แล้วว่าต้องเป็นกลางให้ได้ เพราะฉะนั้นผมก็จำเป็นต้องทำก็คือต้องทำ และทำแบบที่ไม่มีอคติด้วย อย่างบางคนบอกว่าเอาโป้  อานนท์ มาทำไม เอา เก่ง ลายพราง นะเจอกันทำไมขยะสังคม สำหรับผมๆ ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น ผมมองว่าเขาคือมนุษย์เขาอาจจะถูกมองว่าเขาเป็นคนไม่ดี เป็นคนเลว เป็นมนุษย์ที่ไม่ดีก็ว่ากันไป แต่ผมไม่ได้มองว่าเขาเป็นขยะ เพราะฉะนั้นผมจะมองในเรื่องของคุณค่าความเป็นมนุษย์ คุณค่าของความเป็นคนมากกว่า ต่อให้เป็นคนที่เลวร้ายแค่ไหน ไม่ได้โลกสวยนะ ต่อให้เลวร้ายแค่ไหนก็ตาม แต่วันหนึ่งเขาต้องมานั่งในรายการของผม ผมก็จะให้เขามีโอกาสได้พูด สุดท้ายแล้วคนที่ตัดสินคือสังคม คือคนที่ดูจะตัดสินเขาเอง ว่าเขาคือคนที่เลว หรือเพื่อนที่ดี อย่าง เก่ง ลายพราง กับ โป้-อานนท์ ที่มาเจอกันในรายการคนบอกว่าเอามาออกทำไม ให้อะไรกับสังคม ผมก็เลยต้องบอกว่าอยากให้มองให้ลึกกว่านั้น ผมให้อะไรกับสังคมไหม มองผิวเผินอาจจะรู้สึกว่าเรื่องพวกนี้ ไม่ได้ประเทืองปัญญา ไม่ได้ให้อะไรกับสังคมเลย เอาคนสองคนมาเคลียร์กัน แต่คุณคิดไหมว่าคนสองคนนี้เล่น Facebook แล้วด่ากันพร้อมปะทะกันทุกเมื่อ แล้วคนที่ตามเพจมีเป็นล้านคนเลยนะที่ตามเพจเขาอยู่ สองฝั่งนี้ ไม่ใช่แค่โป้กับเก่งทะเลาะกัน แต่ลูกเพจด่ากันเองด้วย เดี๋ยวเจอกูจะกระทืบมึง เดี๋ยวเจอกูจะฆ่ามึง มึงเจอกูตรงนั้นเลย ตรงนี้ สุดท้ายการที่ผมเอาคนสองคนมาเจอกัน มาเคลียร์กันในรายการแล้วเขาจับมือกันได้ แล้วลูกทีมเขาก็จบ หัวหน้าเขาดีกันแล้ว ลูกทีมก็ไม่ต้องมายิงมาฆ่ากันแล้ว สังคมก็เบาลง

ผมถามว่าผมทำอะไรให้สังคมไหมล่ะ มันก็เป็นอีกมุมมองหนึ่งไง อยู่ที่ว่าคุณจะเลือกเสพสื่อแบบไหนมากกว่า ถ้าคุณเสพว่าอ้าวเห็นหน้าไอ้ 2 คนนี้ มึงเXี้ยแล้ว มึงไม่ดีแล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้ไอ้รายการนี้ ไม่ได้ทำอะไรให้สังคมเลยอะไรแบบนี้ บางทีผมเอาเทพ 4G มานั่ง แลบลิ้นปลิ้นตา ร่างทรงเข้าในรายการ แล้วยังไง อย่างน้อยผมก็ทำให้คุณรู้ว่า มันมีเรื่องแบบนี้อยู่ในสังคมจริงๆ แล้วคุณควรจะต้องไปกลับไหว้อะไรแบบนี้ไหมล่ะ มันก็เป็นการบอกแบบทางอ้อม ซึ่งผมไม่สามารถไปบอกคุณได้ว่าอย่าไปกราบ อย่าไปไหว้มันนะ เพราะมันมีเรื่องของสิทธิส่วนบุคคลของเขาอยู่ ผมพูดไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือเอามาให้คุณเห็น แล้วคุณก็จะเห็นเองถูกหรือเปล่า เหมือนกับของเสีย คุณมองแบบนี้คุณจะรู้มั้ยว่ามันเสีย คุณจะต้องไปโดนไปชิมถึงจะรู้ว่ามันเสียเท่านั้น เพียงแต่คนไม่เข้าใจ คนก็จะไปมองแล้วว่าเห็นไหม ไอ้แม่งนี่มันไม่ดี เอามาทำไมให้อะไรสังคม

ผมมักจะพูดเสมอว่า ก็รายการกู ชื่อโหนกระแส อะไรที่เป็นกระแสก็เอามา รายการกูไม่ได้ชื่อคนดีศรีบ้านด่าน ที่ต้องทำเรื่องดีๆ ตลอด บางครั้งก็ต้องยอมรับด้วยว่าสังคมจะอยู่ได้ มันไม่ได้อยู่ได้แบบสิ่งที่ต้องเอาเรื่องดีๆ มาออกเสมอไป ผมมองว่าเอาเรื่องไม่ดีมาเอาออก ถามว่าเพราะอะไร เพราะสังคมมันจะได้เห็นไงว่าไอ้นี่ คือสิ่งที่ไม่ดีมัน คือการเตือน แต่ถ้าเอาเรื่องดีๆ มาออกคุณจะได้เห็นมุมมองที่มันไม่ดีเหรอ คุณจะได้มองเห็นอะไรที่มันเป็นสิ่งเหม็นเน่าในสังคมเหรอ คุณก็ต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ผ่านจากสื่อนั่นแหละ นั่นคือความคิดของผม

FEED สิ่งที่ได้จากการทำหน้าที่

ชีวิตผมทุกวันนี้ต้องมานั่งสัมภาษณ์เคสทุกวัน ผมทำมาหลายปีมากจริงๆ ผมสัมภาษณ์คนมาน่าจะ 10 ปีด้วยซ้ำ ลองคิดง่าย ๆ เดือนหนึ่ง 22 เคส  22 เทป  22 วันที่ผม ต้องทำอะไรแบบนี้แล้วคิดดูว่าปีหนึ่งเท่าไหร่ 10 เดือนก็ 200 กว่าแล้ว ปีหนึ่ง 250 เกือบ 300 แล้วผมทำกี่ปี ผมเจอปัญหาคนมาเป็นพันๆ เคสเหมือนกับหมอจิตวิทยาที่ต้องนั่งฟังปัญหาชาวบ้าน ผมก็เหมือนกัน ต้องนั่งฟังเรื่องพวกนี้ บางทีผมก็แกะไม่ออก ผมต้องไปหาจิตแพทย์

คือ บางทีผมฟังตัวเรื่องแล้ว ผมพอจะมองออกว่าเรื่องนี้มันคืออะไร มันคือประสบการณ์มากกว่า ประสบการณ์จากที่เราเคยเห็นเคสนี้ สัมภาษณ์แบบนี้ๆ แม้กระทั่งไอ้เรื่องแบบนี้ เชื่อไหมว่าวันนี้ผมออกไป อยู่ข้างนอกที่ไม่ได้สวมบทบาทพิธีกร เป็นไอ้หนุ่ม กรรชัย ไปเดินซื้อของ ไปเจอคนที่เขาเข้ามาหาเรา มาคุย มาติดต่อทำนั่นทำนี่ ผมก็มองออกว่าเขาคิดอะไร เพราะมันคือประสบการณ์จากชีวิตที่เราเจอมานั่นแหละว่ามันมีอะไรบ้าง มันทำให้เรามองคนออกมากขึ้น”

สมัยก่อนผมเป็นคนที่นอยด์มากเวลามีใครด่า ใครอะไร ผมโคตรนอยด์เลย โหยด่ากูทำไม เป็นอะไร แล้วบางทีเราก็จะเข้าไปสวนกลับเลยว่าอย่างนี้ๆ แต่ปัจจุบันผมไม่เลย ผมรู้แล้วว่า สิ่งเหล่านี้ช่วยอะไรไม่ได้ มันมีแต่การโหมไฟเข้าไปหา ทะเลาะกัน ปัจจุบันนี้สมมติว่ามีคนด่าผมในทวิตเตอร์ ผมก็จะเข้าไปดีเอ็มหาเขาเลยว่าพี่ขอโทษนะที่ทำให้น้องไม่พอใจ หรือพี่ขอโทษนะที่ทำแบบนี้ นำเสนอแบบนี้ พี่ขอโทษจริงๆ อะไรแบบนี้ อธิบายให้เขาเข้าใจว่าผมเองก็ลำบากใจ เขาก็ส่งกลับมาว่าขอโทษเหมือนกันเขาก็ไม่รู้ว่ามันเป็นแบบนี้ คือบางทีผมว่าทุกสิ่งทุกอย่าง มันอยู่ที่การให้อภัยการพูดคุยกัน การใช้เหตุผลมาคุย แต่ถ้าเกิดว่าใช้อารมณ์ว่าทำไมมาด่า ไม่จบ ยังไงก็ไม่จบคือเขาคิดไปแล้ว เขาแค่ต้องการคำชี้แจง เพราะว่าเราจะชี้แจงยังไง

FEED ปัญหาและอุปสรรคที่ต้องเจอ

ตั้งแต่ก้าวแรกที่มาทำรายการเชิงเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชน รู้อยู่แล้วว่าวันหนึ่งมันต้องมีเรื่องพวกนี้ ถามว่าเพราะอะไร เพราะว่าในตอนที่เราสัมภาษณ์คนคนหนึ่งเนี่ย มันมักมีคู่กรณี แล้วคู่กรณีเขาก็จะรู้สึกว่าตัวเขาเองได้รับผลเสีย ทั้งๆ ที่บางทีมันจะใช่เรื่องจริงหรือไม่ใช่ก็ไม่รู้ แต่เขารู้สึกไปแล้วว่ามันไม่ใช่ๆ อะไรอย่างนี้ ซึ่งมันก็อาจจะเกิดทำให้เขารู้สึกว่าเขาต้องการจะไปเรียกร้องสิทธิ์ของเขา ฉะนั้นเราเองก็รู้สึกว่าต้องยอมรับบริบทนี้ การที่เราจะเป็นกระบอกเสียงแล้วเราไม่มี เรื่องแบบนี้เลยมันคงเป็นไปไม่ได้ อย่างเหตุการณ์ล่าสุดที่มันเกิดขึ้นที่ผมถูกฟ้องก็เหมือนกัน ผู้เสียหายเขาก็มาร้องในรายการว่าเขามีเหตุแบบนี้ๆ คู่กรณีเขารู้สึกว่าเขาถูกพาดพิง ผมก็บอกไปว่าให้มาออกรายการก็ได้ แต่จริงๆ ผมก็ไม่รู้นะว่าเขาติดต่อมาแต่ด้วยแก๊ปเวลาที่มันสั้นมาก  ผมก็บอกให้มาออกได้แต่ขอข้อมูลหน่อยว่ามีอะไรบ้างที่จะพูดบอกให้ส่งข้อมูลมาเลย เขาไม่ส่งข้อมูล ปรากฏวันที่ 2 ออกหมาย วันที่ 3 ไปฟ้องเลย เราก็งงว่ามันเกิดอะไรขึ้นทั้งทางที่เราก็ยินดีอยู่แล้วให้มาออก แต่ว่าก็เข้าใจเขา เขาก็อาจจะรู้สึก คือผมไม่ได้โกรธเขาด้วยนะเพราะเขาอาจจะรู้สึกว่าตัวเขาเองเหมือนโดนพาดพิง เขาก็มีสิทธิ์ที่จะมีการไปร้องเรียนไปขอความเป็นธรรมก็ได้ เพราะว่าระบบกฎหมายอาญาเมืองไทยเป็นระบบกล่าวหาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเนี่ยเขารู้สึกไม่สบายใจ เขาก็ไปร้องศาล สุดท้ายศาลก็ต้องพิจารณา ว่าเขาถูกหมิ่นจริงหรือเปล่า เราหมิ่นเขาจริงไหม แต่วันนี้มันยังไม่มีการตัดสิน ก็ต้องรอเข้าสู่กระบวนการ

FEED บั่นทอนความรู้สึกไหม

ไม่ครับ ไม่บั่นทอนเลย เพราะผมรู้สึกว่าอย่างที่บอกไปวันหนึ่งในเมื่อเราตัดสินใจแล้ว ว่าจะเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนจริงๆ เราก็ต้องยอมรับบริบทนี้เหมือนกันก็คือการถูกฟ้องร้อง ถ้าเกิดเรามานั่งท้อใจ มานั่งเครียด มานั่งอะไรเท่ากับว่าสิ่งที่เราตั้งใจเป็นกระบอกเสียงให้เขามันจะสูญเปล่า เท่ากับว่าเราต้องเลิกรายการไปเลย เราไม่อยากจะทำก็ต้องระวังตัวต้องมาโน่นนี่นั่น มันก็ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ได้เดินไปตามครรลองของมันที่ควรจะเป็น คนที่ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมก็ไม่สามารถจะเรียกร้องได้อย่างเต็มที่

FEED การเลือกเคสมาเข้ารายการ

ส่วนใหญ่แล้วจะมีทีมงานในการที่ดูประเด็นว่าวันนี้เป็นเรื่องอะไร เรื่องอะไร บางวันต้องยอมรับว่าข่าวมันไม่ได้มีประเด็น ไปทุกวันหรอก แต่ถ้ามีประเด็นไหนที่มันเป็นกระแสจริงๆ เรามักจะต้องเอามาให้ได้ แต่ถ้าเกิดวันไหนถ้ามันไม่มีเราก็จะหันไปมองอีกมุมหนึ่งก็คือ อย่างวันนี้ที่มานั่งสัมภาษณ์ก็จะเป็นเรื่องผู้ชายคนมาร้องผ่านทางเพจผ่านทางช่อง 3 ว่าตัวเองตกเป็นผู้ต้องหา ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นคนผิดอะไรแบบนี้ เราก็ต้องเอาเรื่องนี้มาจุดประเด็นในสังคม ให้สังคมได้รู้ว่ามันมีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นเหมือนกันนะ แล้วจะช่วยเหลือเขายังไง เขาไปร้องอัยการสูงสุดมาแล้วเป็นยังไง ต่างๆ นานา มันก็เป็นอีกมุมหนึ่ง แต่วิธีการคัดกรองของทางเรา เราก็จะมีมาตรฐานว่าคนที่เดือดร้อนที่สุด จริงๆ ทุกคนเดือดร้อนหมดนั่นแหละ ติดหนี้ 500 บาทก็เป็นทุกข์ใจ ติดหนี้หนึ่งล้านก็เป็นทุกข์ใจ เมียถูกคนร้ายฆ่าตายยังจับคนร้ายไม่ได้ ก็เป็นเรื่องทุกข์ใจเหมือนกัน เราจะเลือกอันไหนล่ะ เราก็ต้องเลือกคนที่เขาถูกฆ่าตายมาคุยก่อน เพราะมันเป็นปัญหาของสังคมด้วย เพราะอะไร เพราะคนร้ายยังจับไม่ได้ มันอาจจะไปฆ่าคนอื่นอีกก็ได้ เราก็ต้องมาตีแผ่สังคมเพื่อให้เห็นว่ามันมีเรื่องแบบนี้นะมากกว่าเรื่องส่วนตัวที่อาจจะติดหนี้เขา 500 บาท หรือ 100,000 บาท อะไรแบบนี้ ผมก็เข้าใจมันเป็นเรื่องที่คุณจะต้องเดือดร้อน บางคนเอาบ้านไปค้ำแล้วถูกยึดบ้าน ผมก็อยากจะช่วย แต่ผมไม่ใช่ซูเปอร์แมนไง เราไม่ใช่รายการที่ โอ้โหจะช่วยคนทั้งประเทศได้ มันก็ต้องดูบริบทของความหนักหนาสาหัสด้วย

 FEED มุมของครอบครัวและความเป็นพ่อ

ก็โอเคครับ มายูก็เป็นเด็กเกเร และเอาแต่ใจตัวเอง เหมือนกับมีภาวะของเด็กที่ชอบความรุนแรงเหรอ (หัวเราะ) ไม่รู้จะพูดยังไง ชอบแบบ อยู่ดีๆ ไม่พอใจก็เอาเท้าถีบ ก็อาจจะเป็นตามวัย แต่เราก็ไม่อยากให้ลูกเราเป็นแบบนี้ บางทีก็คิดในใจมายู น่าจะไปเรียนกับครูจุ๋มสักที อยากให้เทกคอร์สกับครูจุ๋มสักหน่อยอะไรแบบนี้ จะได้เจอบ้าง (หัวเราะ)” ผมไม่เอาใจ ผมเป็นคนไม่เอาใจลูก คือ ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็คือไม่ได้ อย่าทำแบบนี้ คุยกับใครต้องคุยกับเขาดีๆ เป็นพี่เลี้ยงคุณก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเอากระดาษไปปาใส่เขา คุณทำอย่างนั้นไม่ได้ ผมก็พยายามจะสอนลูกว่าทุกคนเขาไม่สามารถเกิดมาเป็นแบบมายูได้ แต่คนทุกคนต้องเท่ากันลูก ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นพี่เลี้ยงมายู ป๊าจ้างเขามาแต่หนูไม่มีสิทธิ์ไปทำอะไรแบบนั้น เพราะเขาก็เป็นคนเหมือนเรา เขาเจ็บเหมือนเรา ถ้าเขาตีมายู มายูจะเจ็บไหม มายูไปตีเขา เขาก็เจ็บ คนเราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ต้องสอนลูกแบบนี้ ต้องสอนให้เขารู้จักการที่ได้รับก็ต้องให้ด้วย ไม่ใช่รับอย่างเดียว คนเราจำเป็น บางทีมายูได้มา มายูก็ต้องให้คนอื่นด้วย ส่วนใหญ่เขาจะอยู่กับแม่เขาตลอด ตัวพี่ก็ไปทำงาน แม่เขาจะไปรับไปส่ง ดูแลกันไป

FEED ตำนานความเจ้าชู้และการดูแลตัวเอง

แก่แล้วไง เป็นธรรมดาแหละ แก่แล้ว ถามว่ายังมองผู้หญิงอยู่ไหมก็มอง คนมันชอบความสวยความงาม ก็ธรรมดา ผู้หญิงเห็นผู้ชายหล่อๆ ก็อยากให้หันไปมอง แก่แค่ไหนก็มอง เพียงแต่ว่าเราเป็นเจ้าของเขาไม่ได้แล้วเท่านั้นเอง” ทุกอย่างเป็นไปตามวุฒิภาวะ พอโตขึ้นก็จะรู้อะไรมากขึ้น รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักการวางตัวมากขึ้น เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าเราทำเพราะความสนุก เรารู้สึกว่ามีชีวิตอิสระ จะทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องห่วงความรู้สึกใคร แต่วันนี้พอเราต้องมาห่วงความรู้สึกลูกเราเอง แล้วลูกเป็นผู้หญิงด้วย เรายิ่งรู้สึกมากเข้าไปใหญ่ ถ้าเกิดวันหนึ่งมันไปเจอผู้ชายเหมือนพ่อมัน มันจะไม่ดีนะ ถามว่ากลัวไหม มันห้ามกันไม่ได้ สุดท้ายมันเห็นก็คือต้องเห็น บุญทำกรรมแต่ง ก็ต้องเป็นไปตามนั้น สุดท้ายถ้าเขาจะต้องเห็นว่าเราเจ้าชู้มาก่อน ก็ต้องเห็นและต้องยอมรับว่าจริง แต่วันนี้เราไม่ได้เป็นแล้ว มันไม่ดีเหรอ คนที่เคยทำตัวไม่ดีมาก่อน วันหนึ่งปรับตัวให้ดี มันไม่ดีเหรอ คนเรากลับไปแก้อดีตตัวเองไม่ได้ แค่ทำวันนี้ให้ดีขึ้นก็พอ ถามว่าดูแลตัวเองยังไง ก็ยอมรับนะว่ามีไปฉีดโบท็อกซ์บ้าง แต่ว่าตัวเองเมื่อก่อนเป็นคนที่เคยอ้วน ได้ฉายาไอ้อ้วนร้อยเมีย ด้วยซ้ำเมื่อก่อน แต่พอหลังจากนั้นก็คือดูแลเรื่องอาหารการกิน ออกกำลังกายบ้าง แต่คงไม่ได้มาก เพราะไม่มีเวลาจริงๆ แค่นี้เอง ก็ไม่ได้ไปทำอะไรกับมันนะ

FEED คำว่าเบอร์หนึ่งของประเทศ

มีคนมาพูดกับผมแบบนี้บ่อยมากเลย นี่เป็นเบอร์หนึ่งๆ ผมก็จะถามเขาไปว่าถ้าผมเป็นเบอร์หนึ่ง แล้วคนที่สอนผมเป็นเบอร์อะไร อย่าง ดร.หมวย อริสรา หรือไม่ก็คุณไก่-ภาษิต ผมก็เคยไปถามแก หรือแม้กระทั่งพี่ยุทธ (สรยุทธ) หรือแม้กระทั่งคนอื่นที่อยู่ในวงการข่าว ผมก็จะไปถาม ผมถามทุกวัน ผมถามว่าถ้าวันนี้นิยามว่าผมเป็นเบอร์หนึ่ง เป็นจุดสูงสุด แล้วยังไง คนอื่นๆ ที่เขามีของมากกว่าผม ที่เขาเก่งกว่าผมเขาเป็นเบอร์ไหน เพราะฉะนั้นไม่ใช่หรอก ไม่มีใครเป็นเบอร์หนึ่ง เบอร์สองหรอก ทุกคนก็เป็นสื่อ อยากทำงานให้สังคมเหมือนกัน ทำงานเพื่อครอบครัวตัวเองเหมือนกัน และเป็นกระบอกเสียงให้กับทุกคนเหมือนๆ กัน ฉะนั้นผมไม่ได้มองว่าต้องเป็นเบอร์หนึ่งเบอร์สอง”

บางทีผมยกมือไหว้เขาด้วยซ้ำ (หัวเราะ) ผมยังถามเขาด้วยซ้ำ คนเราการเรียนรู้ บางทีคนอายุน้อยกว่าไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องรู้น้อยกว่าเรา คนอายุน้อยกว่าสมัยนี้รู้เยอะกว่าเราเยอะแยะมากมาย ประสบการณ์ชีวิต มุมมองของเขา มุมมองของเราต่างแตกกัน ถูกเลี้ยงมาคนละแบบ โตมาไม่เหมือนกัน มุมมองของเด็กคนหนึ่งที่อายุน้อยกว่าเรา บางทีเราเอาของเขามา สามารถเอามาใช้ในชีวิตประจำวันของคนที่โตแล้ว แก่แล้วได้

ผมไม่มีเป้าว่าจะต้องไปอยู่ตรงจุดนั้นให้ได้  ผมว่าคนเราไม่ทรยศกับโอกาสก็พอแล้ว เมื่อไหร่ที่คุณมีโอกาสที่ดี คุณก็ต้องคว้าไว้ และทำโอกาสนี้ให้ดีที่สุดแค่นั้นเอง ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปเลือกว่าเป็นที่นั่นที่นี่ ต้องดีอย่างนั้นอย่างนี้ เป้าหมายอย่างนั้นไม่ใช่ เอาแค่ดีที่สุดที่เราทำได้ แล้วเดี๋ยวทุกสิ่งทุกอย่างจะตอบโจทย์คุณเอง อย่างตัวผมเอง ผมไม่ใช่นักข่าวมาก่อน แต่วันหนึ่งผมต้องมาทำงานในมุมของข่าว สิ่งเดียวที่ผมอยากจะบอกทุกๆ คนที่ติดตามผม จะบอกเลยว่าถ้าคุณต้องทำงานที่คุณไม่ถนัด สิ่งแรกคือ ศรัทธา เมื่อไหร่ที่คุณมีศรัทธากับสิ่งที่คุณทำ ทุกสิ่งทุกอย่างจะย้อนกลับมาตอบโจทย์คุณเอง แต่เมื่อไหร่ที่คุณไม่มีศรัทธาแล้วคุณทำเหมือนให้มันผ่านๆ ไป ยังไงคุณก็ไม่มีทางได้ความสำเร็จกลับคืนมา ศรัทธาคือสิ่งที่สำคัญที่สุด อันนี้คือสิ่งที่ผมยึดถือมาตลอด สวดมนต์ไม่ใช่สวดผ่านๆ คุณต้องศรัทธาด้วยในการสวด ทำงานคุณไม่ใช่ทำให้มันผ่านๆ คุณต้องศรัทธาในสิ่งที่คุณกำลังทำด้วย ศรัทธาคืออันดับแรกในชีวิตของคนเรา ที่ควรจะต้องทำในสิ่งที่ต้องทำ

สัมภาษณ์ เมื่อปี 2563

เสาหลักนักข่าวบันเทิงไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ (Strictly Necessary Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของเว็บไซต์ feedforfuture.co ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์เราได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนสมาชิกผู้ใช้งานของเว็บไซต์ ตลอดจนการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อวิเคราะห์ และช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้ในการบันทึก และจดจำคุณลักษณะต่างๆ ที่ท่านได้เลือกขณะเข้าชมเว็บไซต์ของเรา เช่น หมวดหมู่ และเนื้อหาที่ท่านชอบอ่านมากที่สุด เราจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ และนำกลับมาใช้เมื่อท่านกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง เพื่อปรับให้ท่านได้รับชมเนื้อหาได้ตรงกับความชอบของท่านให้มากที่สุด

  • คุกกี้เพื่อนำเสนอโฆษณาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อจดจำพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ของท่าน รวมถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ท่านใช้ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์การนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด และช่วยวัดความมีประสิทธิผลของโฆษณาที่เรานำเสนอด้วย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ท่านจะเห็นโฆษณาเดิมซ้ำๆ

บันทึก