“อรุณเบิกฟ้า นกกาโบยบิน ออกหากินร่าเริงแจ่มใส เราเบิกบานรีบมาเร็วไว ยิ้มรับวันใหม่ยิ้มให้แก่กัน เพื่อนๆ พบหน้า พี่น้องพร้อมหมู่ ต่างมาดูรายการสุขสันต์ เจ้าขุนทองขับขานแล้วนั่น เจ้าขุนทองขับขานแล้วนั่น”
บทเพลงคุ้นหูเด็กๆ ยุค 90 ที่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อมานั่งเฝ้าหน้าจอรอ “เจ้าขุนทอง” รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กที่ออกอากาศมาอย่างนาวนานกว่า 30 ปี แม้วันนี้จะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่กลิ่นอายความสนุกควบคู่ความรู้และเสียงหัวเราะยังคงตราตรึงอยู่ในห้วงความทรงจำของเด็กสมัยนั้นที่กลายเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ทุกคน
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2534 “เจ้าขุนทอง” ปรากฏตัวครั้งแรกทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 โดยมี “ครูอ้าว เกียรติสุดา ภิรมย์” คณะอักษรศาสตร์ เอกศิลปการละคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ริเริ่มรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กโดยมุ่งเน้นไปที่อยากให้เด็กๆ ใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สอดแทรกข้อคิด และที่สำคัญต้องสนุกไม่น่าเบื่อเหมือนกับการเรียนการสอนในโรงเรียน
เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี หากได้รับการปลูกฝังความรู้ที่เหมาะสม
ครูอ้าวเล่าให้เราฟังว่า กว่าที่จะมาเป็นรายการยอดฮิตนี้ต้องผ่านการทำงานหลายอย่าง รวมถึงอาชีพอิสระซึ่งไม่เป็นที่นิยมในตอนนั้น กระทั่งได้มีโอกาสพูดคุยกับ “คุณแดง สุรางค์ เปรมปรีดิ์” หัวเรือใหญ่ของช่อง 7 ที่มีเป้าหมายอยากผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กขึ้นมา เน้นเรื่องการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ประกอบกับในตอนนั้นรายการสำหรับเด็กมีน้อยมาก มีเพียงแค่รายการเสาร์สโมสรและรายการบ้านเด็กดีของอาจารย์พรจันทร์ จันทวิมล เท่านั้น
ส่วนที่เลือกใช้ “หุ่นมือรูปสัตว์” เป็นตัวเดินเรื่องครูอ้าวให้เหตุผลว่า “พี่เป็นคนรักสัตว์และเอ็นดูสัตว์ทุกชนิดในโลกนี้เลย ดังนั้นก็เลยคิดว่าสัตว์นี่แหละเข้าถึงเด็กๆ ได้ง่าย เขามองสัตว์พวกนี้เป็นเพื่อน แม้กระทั่งสัตว์ร้ายอย่างจระเข้ เขายังมองว่าขบขัน น่ารัก ตลกดี พอเป็นสัตว์มันง่ายต่อการเป็นเพื่อนกัน อีกอย่างหนึ่ง(หุ่น)ไม่แก่ ไม่ตาย ตราบใดที่คนทำยังอยู่ก็ทำใหม่ได้ ปรับปรุงได้ ส่วนชื่อรายการคุณแดงเป็นคนตั้ง คุณแดงบอกว่าเป็นนกที่พูดเลียนเสียงคนได้ คนพูดอะไรก็พูดตาม ดังนั้นมันสื่อถึงภาษาไทย“
“ความที่ผู้บริหารช่อง 7 คุณสุรางค์เป็นครูแล้วก็เห็นปัญหามากกว่าเรา เห็นปัญหาว่าเด็กๆ อาจจะไม่ค่อยสนใจภาษาไทยเท่าไร เพราะว่าดูเหมือนก็พูดได้ เกิดมาก็พูดไทยแล้ว หลังๆ ก็มีการสะกดการใช้ที่ผิด แต่ไม่ต้องพูดถึงปัจจุบันนะมันผิดเยอะมาก จะว่ามันเป็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมทั่วไปทุกประเทศ มันสามารถจะเปลี่ยนแปลงแต่ว่าเราต้องเก็บสิ่งที่ถูกต้องไว้ใช้ในโอกาสที่เหมาะสม อย่างเช่นเขียนจดหมายถึงผู้ใหญ่เราไม่สามารถจะใช้นะจ๊ะๆ หรือว่าเนอะๆ ใช้ไม่ได้ แต่ว่าภาษาพูดใช้ได้ไม่มีปัญหา ภาษาพูดมันจะมีแสลงมีความเปลี่ยนแปลง
“มันเป็นธรรมดาของภาษามีการเปลี่ยนแปลงมีการพัฒนาขึ้น เราควรจะเข้าใจถึงรากของภาษาเราด้วย ไม่เช่นนั้นมันจะเป็นอะไรก็ไม่รู้ ใครพูดอะไรก็ได้ มันไม่ได้ มันต้องมีกฎเกณฑ์เล็กๆ มีความถูกต้องเป็นระเบียบบ้างและเหมาะสมสำหรับกาลเทศะ”
สะท้อนภาพตัวแทนคนในสังคมด้วยสัตว์นานาชนิด
“ฉงน” เป็นควาย แล้วมีครอบครัวควายหลายตัว คุณตาไฉน มีน้องฉงาย น้องฉาบ น้องฉิ่ง ควายเป็นสัตว์ที่ทุกคนลืมนะ ทุกคนลืมว่าเขามีความน่ารัก เขามีความซื่อ ควายมันน่ารักมากกว่าน่าดูถูก เมื่อก่อนคนมักจะคิดว่าควายโง่ ที่เขาโง่เพราะเขาถูกบังคับให้ทำงานอย่างเดียวทุกวัน จริงๆ แล้วเขาคิดได้เหมือนกัน เห็นความน่ารักของเขาก็เลยเอามาทำหุ่น คิดว่าเขาน่าจะเป็นหุ่นตัวแทนของรายการเจ้าขุนทองด้วยตัวหนึ่งเหมือนกัน รายการนี้มีสัตว์อื่นๆ อีกหลายตัว เช่น “มะตูม” เต่าสูงอายุ “ป้าไก่” ซึ่งเป็นเหมือนแม่บ้านเชี่ยวชาญการบ้านการเรือนขี้บ่นนิดๆ เหมือนป้าไก่ทั้งหลาย แล้วก็มีวัยรุ่นอย่าง “หางดาบ” สุนัขที่เป็นเหมือนพระเอกของเรื่อง “ขอนลอย” จระเข้ซึ่งเป็นเด็กเกเรนิดๆ ตะกละหน่อยๆ “หนูเหยิน” ที่ขี้โม้โอ้อวด เหล่านี้มีความดีงามและความน่ารัก ความบกพร่องเล็กๆ ซึ่งแก้ไขได้ การแก้ไขเป็นตัวอย่างให้เด็กด้วยเพราะว่าผิดพลาดก็แก้ไข ไม่ดีก็แก้ไข ไม่ต้องซ้ำเติมกัน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทุกคนเป็นญาติกันหมด”
ความสนุกที่ควบคู่กับสาระความรู้สำหรับเด็ก
“รายการที่ดีนะมันต้องสร้างคน สร้างคนด้วยจิตสำนึก ความคิด นิสัย ไม่ใช่แต่พูดภาษาไทยถูกต้อง เขียนภาษาไทยถูกต้อง แต่ว่าจิตใจมันต้องมาก่อนอันนี้เป็นเรื่องหลัก ที่จริงเราแฝงเอาไว้ในภาษา ภาษาเป็นหนึ่งในสาขาวัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมไทยคือจิตใจที่รักสงบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ทำร้ายคนอื่น ไม่บูลลี่กัน สิ่งเหล่านี้เราสอนด้วยนิทาน ภาษาที่ถูกต้องเหมาะสม เหมาะแก่วัย เหมาะแก่บุคลิกของคนแต่ละคนในสังคม เนื้อหาเหล่านี้มันอยู่ในใจเป็นหลักอยู่แล้ว ดังนั้นพอมีหลักเราจะเห็นเรื่องอะไรเราสามารถรู้ได้เลยว่าเรื่องนั้นใช้ได้หรือเปล่า ใช้มาเป็นตัวอย่างเป็นสิ่งที่บ่มเพาะเด็กๆ ได้หรือเปล่า สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงคือมีความสนุกไหม สนุกหมายความว่าอาจจะเศร้าก็ได้ อาจจะตลกก็ได้ อาจจะมีตื่นเต้นน่ากลัวเล็กน้อย อันนี้คือความสนุก สิ่งเหล่านั้นมันจับใจผู้คน”
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การนำเสนอต้องปรับตัวตาม
หลังออกอากาศมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี กลุ่มผู้ชมก็เริ่มมีอายุมากขึ้นประกอบกับการเข้ามาของความบันเทิงในรูปแบบที่หลากหลายยิ่งขึ้นไม่ใช่เพียงแค่รายการโทรทัศน์อีกต่อไป กระแสความนิยมรายการเจ้าขุนทองก็เริ่มลดน้อยลงจนบทเพลงที่เราได้ยินในทุกเช้าเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ซึ่งในปัจจุบันต้องยอมรับว่าไม่มีบทเพลงไหนที่ครองใจเด็กๆ ได้มากเท่ากับ “ทรงอย่างแบด (Bad Boy)” ของศิลปิน Paper Planes ครูอ้าวมีแนวคิดกับเรื่องนี้ว่า “เราก็อายุมากขึ้น เราต้องเรียนรู้สังคมว่าเดี๋ยวนี้เขาดูอะไรกัน ก็มีลูกชายมาช่วยเพราะเดี๋ยวนี้สื่อเยอะมาก เราจะเลือกอย่างไร เราก็ต้องคอยเช็ค ไม่ใช่ว่าเราทำมากี่ปีเราก็ทำอย่างนี้อยู่ เรายึดมั่นในเรื่องความดีงามความถูกต้อง แต่ว่าเรื่องรายละเอียดรูปแบบอย่างไร สไตล์ไหน บางทีเราก็ต้องอาศัยการตรวจสอบจากทีมงาน จากลูก จากคนดู เราต้องสังเกตด้วยว่าโอเคไหม ส่วนมากแล้วเด็กๆ จะชอบอะไรคล้ายๆ เดิม สนใจคล้ายๆ เดิม แต่ถ้าเป็นโทรทัศน์เราต้องมีอะไรหวือหวามากกว่าเดิมอีกนิดนึง สีสันสวยงาม ความฉับไว กระชับ ภาษาที่ใช้ก็อาจจะต้องเปลี่ยนไปเล็กน้อย ไม่ยืดยาดเยิ่นเย้อ”
“เป็นปกติของการพัฒนาของศิลปะ อย่างเพลงที่พูดถึงเราก็ได้ข่าวแล้ว มันมีอะไรที่โดนใจและทันสมัย เป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้เหมือนกันว่าเราในฐานะทำรายการเด็กและเราทำรายการภาษา เราก็ต้องเรียนรู้เอาเป็นตัวอย่างเหมือนกันว่าสิ่งไหนที่ดีที่เขาประทับใจ เราศึกษามันด้วยเหมือนกัน จะเป็นแบบอย่างไหม ไม่เป็น เราก็เป็นเราอย่างนี้ต้องคงคาแรคเตอร์ของเราบ้างเหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกันเราศึกษาเขาแล้วเราก็ได้รู้ว่าตอนนี้นะเด็กเขาชอบอย่างนี้ เขาชอบเพราะอะไร จังหวะ ดนตรี หรือสไตล์การเล่นดนตรีอะไรต่างๆ ภาษายังไง ถ้าอย่างนั้นเราก็ได้มาปรับปรุงหรือเพิ่มเติมแก้ไขของเราด้วย”
กระแสความนิยมอย่างไรก็สู้ละครไม่ได้
แม้ภาพที่ปรากฏหน้าจอจะดูสนุกสนานรื่นเริงไปกับหุ่นทำมือรูปสัตว์นานาชนิด แต่เบื้องหลังไม่ได้สวยงามเช่นนั้น เพราะการที่จะหาผู้สนับสนุนรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากเมื่อกลุ่มผู้ชมคือเด็กที่ไม่มีกำลังซื้อ “ผู้สนับสนุนเราก็ไม่ว่าเขาหรอกนะ โทรทัศน์มันเป็นธุรกิจต้องยอมรับ เขาต้องอยู่ได้ สถานีต้องอยู่ได้ สปอนเซอร์ต้องอยู่ได้ ไม่ใช่ว่าเขาสปอนเซอร์เราแล้วไม่มีคนซื้อเขา เขาต้องคิดมาแล้ว เราเข้าใจทุกส่วนทุกฝ่ายว่ามีความจำเป็นที่เขาไม่ให้ตังค์เราทำรายการ เราก็พยายามทำให้ดีที่สุด รายได้มันไม่เหมือนรายการเกมโชว์ ไม่เหมือนละคร เทียบกันแล้วคนละเรื่องเลย แต่เราก็ไม่คิดอะไรมากเราก็ทำของเราไป มันมีความสุขตรงที่ว่าเราไม่ได้ผลกำไรมากมายเราพอเลี้ยงตัวมาตลอด 30 ปีไม่มีอะไรเหลือฟุ้งเฟ้อ อยากลงทุนให้มากกว่านี้ก็ยังทำไม่ค่อยได้ อยากลงทุนให้เหมือนรายการเมืองนอกแต่ว่าเราไม่มีคนสนับสนุนเราก็ทำไม่ได้เพราะทุกคนต้องอยู่ต้องกิน เรามีทีมงานที่เขาตั้งใจทำกับเราโดยที่ได้รับค่าตอบแทนไม่มากเขาก็ทำ อันนี้เป็นสิ่งที่ดีใจอย่างนึงเบื้องหลังคนทำงานก็สำคัญที่เรารู้สึกชื่นชมในความตั้งใจ มีใจเดียวกับเราแล้วก็ทำมาตลอด บางคนอยู่ตั้งแต่แรกเริ่มซึ่งเราดีใจมาก” ครูอ้าว กล่าว
ก่อนจะจากกันครูอ้าวมีสิ่งที่อยากบอกกับเด็กในวันนั้นซึ่งโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ว่า “เติบโตมาแล้วเราก็ต้องนึกถึงสิ่งที่เป็นรากของเรา สิ่งที่มันทำให้เราเป็นเราวันนี้ แล้วเลือกดูว่าอะไรคือสิ่งที่เราจะถ่ายทอดให้เด็กรุ่นต่อไป อย่างอาชีพเราสื่อมวลชน เราพิจารณาว่าสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็น ที่ทำให้เราเป็นคนดีและประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ด้านอะไรบ้าง แล้วเราก็คิดว่าสิ่งนั้นเราจะเก็บไว้ให้รุ่นต่อไปอย่างไร อาจจะเป็นลูกเรา เป็นน้องเรา ใครก็ตาม ไม่มีทางที่คนหรือสังคมจะเป็นเหมือนเมื่อก่อนย้อนไม่ได้ผ่านแล้วผ่านเลยมันต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่ในขณะที่สิ่งใหม่เข้ามาสิ่งดีๆ อย่างที่เราเคยเป็นมาก่อน อะไรที่เราสามารถจะเก็บเอาไว้ปฏิบัติ คำนึงถึง หรือเรียนรู้เอามาเป็นตัวอย่างของวันหน้าก็เก็บเอาไว้และถ่ายทอดต่อ สำหรับคนรุ่นนี้คนที่ดูรายการเจ้าขุนทองมาสมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เก็บเอาสิ่งที่ดีไว้ ถ่ายทอดเป็นตัวอย่างสำหรับอนาคตค่ะ”