ทำไมกิจกรรมทหารจึงเป็นกิจกรรมเด่นสุดของงานวันเด็ก ซึ่งสื่อทุกประเภทมักเสนอเป็นภาพหลักของข่าวทุกปี หรือสิ่งที่รัฐควรแสดงให้เห็นในวันเด็กคืออะไร
ศูนย์ข้อมูลมติชน ขอนำเสนอบทความเรื่อง “วันเด็กรัฐ” ที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้ใน หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 21 มกราคม 2562 ดังนี้
ดูเหมือนเป็นเวลาสักสิบปีมาแล้วกระมัง ที่ทุกวันเด็ก ทหารจะเอารถถัง, เครื่องบิน,เรือรบ และอาวุธยุทธภัณฑ์ทั้งหลายมาตั้งแสดงให้เด็กเล่น แล้วก็ต้องมีคนในแวดวงวิชาการประเภทต่างๆ ออกมาทักท้วงและแนะนำด้วยเหตุผลซึ่ง “ฟังขึ้น” ทั้งสิ้น
คนที่เรียกตัวเองว่านักสันติวิธีจะต้องพูดว่า นี่คือการสอนหรือตอกย้ำให้เด็กไทยนิยมชมชอบความรุนแรง นักสังคมศาสตร์บางคนบอกว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลที่เด็กไทยจำนวนมากอยากเป็นทหาร นักจิตวิทยาเด็กบางคนแนะนำว่า ที่จริงแล้วทหารมีความสามารถด้านพลเรือนหลายอย่าง น่าจะเอามาแสดงให้เด็กดูเป็นความรู้ในวันเด็กมากกว่า เช่น มีหน่วยแพทย์ที่มีความสามารถมาก อาจนำเอาเรื่องของการช่วยชีวิตคนเจ็บหรือคนประสบอุบัติเหตุ มาให้เด็ก “เพลิน” (คือ play & learn) ก็ได้
วันเด็กปีหน้า มหกรรมแสดงอาวุธของทหารกับแสดงความเห็นของนักวิชาการก็จะหวนกลับคืนมาเหมือนปีนี้ และปีอื่นๆ ที่ผ่านมาทั้งทศวรรษ
ทำไมกิจกรรมทหารจึงเป็นกิจกรรมเด่นสุดของงานวันเด็ก ซึ่งสื่อทุกประเภทมักเสนอเป็นภาพหลักของข่าวทุกปี
นักวิชาการท่านหนึ่งบอกว่า เพราะงานวันเด็กจัดมาตั้งแต่สมัยที่ยังต้องสู้รบกับ พคท. กิจกรรมของกองทัพจึงอยู่ในความสนใจของประชาชนและเด็กๆ
แต่งานวันเด็กในเมืองไทยเริ่มจัดมาตั้งแต่ 2498 ก่อนหน้าวันเสียงปืนแตกของ พคท.เกือบสิบปี
จัดขึ้นตามคำแนะนำของ “สมาพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศ” ผมเข้าใจว่าเป็น “หน้าม้า” ของสหประชาชาติ ซึ่งในปีนั้นก็ร่างปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขึ้นด้วย สมาพันธ์ดังกล่าวเชื่อว่าจัดงานวันเด็กแล้ว ประชาชนจะได้เห็นความสำคัญของเด็ก (นิยามของเขาคืออายุต่ำกว่า 18 ปี)
ผมเข้าใจว่า “เด็ก” ของเขาไม่ได้หมายถึงลูกหลานของคุณ ซึ่งคุณก็ให้ความรักความเอ็นดูและความสำคัญอยู่แล้ว แต่หมายถึงกลุ่มประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 18 อันเป็นกลุ่มประชากรที่ใหญ่มากในทุกสังคมทั้งโลก (โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลก) แต่เพราะด้อยสิทธิทางการเมืองและวัฒนธรรม (เช่นเพราะเป็นเด็กจึงไม่ควรเรียกร้องอะไรมากนัก) จึงไม่ได้ส่วนแบ่งทรัพยากรเท่าที่ควรในหลายสังคม เช่น ในกรุงเทพฯสมัยนั้น ไม่มีสนามเด็กเล่นเพียงพอ จนปัจจุบันก็ยังไม่เพียงพอ หรือไม่มีศูนย์เรียนรู้อิสระสำหรับเด็ก (เช่นห้องสมุด, ห้องฉายหนัง, ห้องหรือพื้นที่การละเล่นและสันทนาการ, ฯลฯ) เป็นต้น
ประชาชนควรเห็นความสำคัญของ “เด็ก” ในความหมายนี้ และกดดันให้รัฐกระจายทรัพยากรไปยังคนกลุ่มนี้
อย่างไรก็ตาม รัฐไทยเข้าใจผิดหรือแสร้งเข้าใจว่าเด็กมีความหมายเพียงลูกหลานของพลเมืองแต่ละคน ดังนั้น แทนที่ผู้นำจะใช้วันเด็กในการประกาศนโยบายอะไรที่มุ่งประโยชน์ของเด็กในฐานะกลุ่มประชากร กลับมอบคำขวัญสะเหล่อๆ ให้แก่เด็กแทน ด้วยเหตุดังนั้นจึงทำให้เข้าใจว่าวันเด็กคือวันที่รัฐต้องแสดงอะไรให้เด็กดู
วันเด็กของไทยจึงเป็น “วันรัฐ” อีกวันหนึ่ง แม้ไม่ได้หยุดราชการมาแต่แรก (หรือไม่มีการหยุดชดเชย) แต่ก็เป็นวันที่รัฐแสดงตนให้แก่เด็ก (หรือประชาชนทั้งหมด)
หน่วยราชการต่างขนเอากิจกรรมของตนมาแสดงให้เด็กดู บางหน่วยเต็มไปด้วยตัวหนังสือเสียจนแม้แต่ผู้ใหญ่ก็ขี้เกียจอ่าน บางหน่วยเลือกเอาเฉพาะกิจกรรมที่น่าจะเป็นที่สนใจของเด็กมาแสดง หรือชวนให้เด็ก “เล่น” กับเครื่องมือเหล่านั้น ไม่รู้จะทำอะไรจริง ก็สั่งไอติมมาตักแจก หรือหาของเล่นมาแจกหรือให้จับสลากแทน ก็เป็นอันพ้นกิจกรรมวันเด็กไป
มองจากความเลื่อนเปื้อนของวันเด็กที่จัดกันมาแต่แรกแล้ว ก็ให้เห็นใจทหาร ในฐานะหน่วยงานหนึ่งของรัฐ จะให้เขาแสดงออกซึ่ง “รัฐ” ในส่วนของเขาอย่างไร ถ้าไม่ใช่การจัดแสดงอาวุธยุทธภัณฑ์ รัฐในมิติของทหารคือกำลังที่จะป้องกันตนเอง (และอื่นๆ ซึ่งกองทัพได้ยึดเอามาเป็นหน้าที่ของตนเช่น “ความมั่นคง” เพียงเรื่องเดียวทหารก็อาจทำอะไรได้หมดตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจนถึงเทศกิจ) ฉะนั้น ก็ต้องแสดงกำลังทางกายภาพ จะให้เอาหน่วยแพทย์มาแสดงก็ผิดภารกิจหลักของกองทัพ
ก็ถูกแล้วไม่ใช่หรือที่ทหารคอยอุ้มเด็กขึ้นไปนั่งในรถถัง จะให้เขาชวนเด็กเล่นต้องเตได้อย่างไร
สิ่งที่รัฐแสดงตนให้ประชาชน (ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่) ให้ได้เห็นในวันรัฐต่างๆ คืออะไร
คือความสง่างามยิ่งใหญ่, ความตระการตา, และอำนาจ อาวุธยุทธภัณฑ์ที่เหล่าทหารนำมาแสดงนั้นก็เป็นอำนาจอย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้จำกัดที่อำนาจด้านใช้ความรุนแรงเท่านั้น ยังรวมถึงอำนาจของความรู้ ที่หน่วยราชการพลเรือนอีกหลายแห่งแสดงให้ชม เช่นด้วยความรู้และเครื่องมือที่ทันสมัย รัฐสามารถบอกได้ว่าพายุจะเข้าเมื่อไร ดังนั้น อำนาจที่จะออกเรือแท้จริงแล้ว จึงไม่ได้สิ้นสุดที่ไต้ก๋งเรือ แต่อยู่ที่รัฐต่างหาก อำนาจทางวัฒนธรรม เช่นเครื่องแบบทั้งหลายนั้นรัฐสามารถกำหนดได้ ก็เพราะรัฐเท่านั้นที่รู้ว่ามาตรฐานของความเหมาะสมอยู่ที่ไหน
ในงานวันรัฐทั้งหลาย เที่ยวชมไปเถิด ก็จะเห็นลักษณะเด่นสามด้านดังกล่าวนี้ของรัฐ ถูกชูขึ้นมาให้ครอบงำทัศนคติที่มีต่อโลกและชีวิตของประชาชนทุกคน นับตั้งแต่เด็กในงานวันเด็ก จนถึงทุกโอกาสที่รัฐแสดงวิวิธทัศนาให้ชมในรูปต่างๆทั้งในวันรัฐและในกรณีอื่นๆ
อันที่จริงรัฐควรคิดโครงการที่จะช่วยให้เด็กได้มีชีวิตสมบูรณ์ตามศักยภาพของแต่ละคนแล้ว (คิดมาก่อน แต่อาจเริ่มโครงการในวันเด็ก) เป็นต้นว่า ตำรวจวางแผนที่จะทำให้เขตเมืองเป็นที่ปลอดภัยของเด็ก แม้แต่ที่เดินทางคนเดียว ตำรวจทำด้วยตนเองหรือด้วยความร่วมมือกับประชาชนอาสา ซึ่งได้รับการฝึกที่จำเป็นมาแล้วก็ตาม แค่เด็กอาจเคลื่อนที่ไปสู่ทรัพยากรต่างๆ ในเมืองอย่างอิสระขึ้นเพียงเท่านี้ เขาก็มี “อำนาจ” จะพัฒนาศักยภาพส่วนตนของเขาได้เพิ่มขึ้นอีกมากแล้ว
ภาคสังคมก็อาจมีบทบาทในวันเด็กได้อีกมาก ถ้ามองว่าเด็กคือกลุ่มประชากรที่ “อ่อนแอ” เมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรอื่น จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้ประชากรกลุ่มนี้ได้อย่างไร เช่นการช่วยให้เด็กได้จัด “ชมรม” ของตนเอง นับตั้งแต่กีฬาใต้ทางด่วนขึ้นไปจนถึงชมรมประเภทอื่น ซึ่งเด็กเป็นผู้บริหารจัดการเอง ก็ทำให้เด็กสามารถสร้างเครือข่ายของตนเอง เครือข่ายในทุกสมัยและทุกสังคมล้วนให้อำนาจแก่บุคคลทั้งสิ้น
วันเด็ก, วันครู, วันพ่อ, วันแม่, และวันอื่นๆ น่าจะเป็นการย้ำเตือนให้รัฐ (และสังคม) สำนึกว่าตนมีพันธะหน้าที่ต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างไร และจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้กลุ่มประชากรที่เป็นเจ้าของชื่อวัน เข้มแข็งขึ้น, งอกงามขึ้น, และทำประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้มากขึ้น ไม่น่าจะมีความหมายเพียงเป็นวันที่รัฐจะสง่างาม, ตระการตา, และมีอำนาจเหนือประชาชนของตนเท่านั้น