หากนิยามของยุค 90s จะหมายถึงช่วงเวลาที่รุ่งเรือง ดีงาม ในมิติต่างๆ ของวิถีชีวิต เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ก่อนจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นอื่น “หนังไทย” หรืออุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยยุค 90s ก็อยู่สถานะเดียวกับนิยามดังกล่าวด้วยเช่นกัน
จริงอยู่เริ่มเห็นความอ่อนแรง ถดถอย ถ้าเทียบกับยุคงรุ่งเรืองสูงสุดของภาพยนตร์ไทยในยุค 60-70-80 ซึ่งผลิต หนังไทยป้อนเข้าสู่ระบบโรงฉายและสายหนังปีละเป็น 100 เรื่อง เมื่อเข้าสู่ยุค 90 ปริมาณการผลิตภาพยนตร์ลดลงเป็นลำดับ ไปจนถึงปลายยุค 90 ที่ปีนึงมีหนังไทยฉายแค่ไม่กี่สิบเรื่อง
อย่างไรตามสิ่งที่เป็นปรากฎการณ์และหมุดหมายสำคัญของภาพยนตร์ไทยยุค 90 นั่นคือ การได้ผู้เล่นรายใหม่ที่สร้างงานต่อเนื่องอย่างค่ายใหญ่ แกรมมี่, อาร์เอสฯ , ไท เอนเตอร์เทนเมนต์ บวกกับการเข้ามาของกลุ่มผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ ซึ่งย้ายตัวเองจากเวทีการสร้างภาพยนตร์โฆษณา มาสู่การทำหนังไทย (นนทรีย์ นิมิตบุตร, เป็นเอก รัตนเรือง) (ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค 2000 และ GTH คือแกนหลักที่เข้ามารันวงการต่อ)
สำหรับผู้เขียนแล้วยุค 90 คือช่วงเวลาที่ได้เสพ “หนังไทย” อย่างเต็มอิ่ม ทั้งค่ายผู้ผลิตหลักดั้งเดิมอย่าง ไฟว์สตาร์ฯ, สหมงคลฟิล์ม ที่ยังสร้างงานคุณภาพและงานระดับแมสกันอย่างต่อเนื่อง และ “บุญชู” ของบัณฑิต ฤทธิ์ถกล คือแฟรนไชน์ที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าประทับใจ โดยเริ่มต้นจาก บุญชูผู้น่ารัก (พ.ศ.2531) จากนั้นภาคต่อ บุญชู 2 น้องใหม่(2532) , บุญชู 5, บุญชู 6 , บุญชู 7, บุญชู 8 ก็ทยอยตามออกมา
ขณะเดียวกัน มือรางวัลอย่าง ม.จ.ชาตรี เฉลิมยุคล ก็ฝากผลงานที่น่าจดจำไว้มากมายในทศวรรษนี้ คนเลี้ยงช้าง (2533) , น้องเมีย (2533), นางฟ้าอีดิน (2533), มือปืน 2 สาละวิน (2536), เฮโรอีน (2537), เสียดาย (2537), เสียดาย 2 (2539)
ยุค 90 ยังควรถูกจดจำในแง่ของการเปิดพื้นที่ให้แก่ “หนังวัยรุ่น” ที่มิได้นำเสนอแต่เฉพาะแง่มุมความรักหวานแหววเป็นด้านหลัก คิง-สมจริง ศรีสุภาพ แจ้งเกิดด้วยฝีมือการกำกับภาพยนตร์ “กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้” (พ.ศ.2534) สร้างชื่อและรายได้ให้กับค่าย ไท เอนเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งกลายเป็นยักษ์ใหม่ เพราะระดมผู้กำกับมือดีแห่งยุคเอาไว้คับคั่ง อาทิ ธนิตย์ จิตนุกูล (ปื๊ด), อดิเรก วัฏลีลา (อังเคิล), อุดม อริยอุดมโรจน์, สมจริง ศรีสุภาพ (คิง), นนทรีย์ นิมิบุตร (อุ๋ย), ยงยุทธ ทองกองทุน (สิน)
ขณะที่ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ อาร์เอสฯ ก็มีไมล์สโตนในด้านภาพยนตร์ไทยจากฝีมือการกำกับภาพยนตร์โดย ราเชนทร์ ลิ้มตระกูล ผู้สร้างปรากฎการณ์ให้ “โลกทั้งใบให้นายคนเดียว” (พ.ศ.2538) กลายเป็นภาพยนตร์วัยรุ่นที่ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง มีอิทธิพลและเป็นที่จดจำในยุคนั้น
ขณะที่ฟากหนึ่งของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่างแกรมมี่ ก็ฝากผลงานที่น่าจดจำในด้านภาพยนตร์ยุค 90 อย่าง “จักรยานสีแดง(พ.ศ.2540) และ “รักออกแบบไม่ได้” (พ.ศ. 2541)
สุดท้ายที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือผลงานของ อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิตบุตร ผู้กำกับภาพยนตร์ที่สร้างปรากฎการณ์จากงานกำกับฯเรื่อง “2499 อันธพาลครองเมือง”(พ.ศ.2540) นอกจากจะทำรายได้ไปกว่า 70 ล้านบาท ในการฉายทั่วประเทศสร้างกระแส ฟีเวอร์ในหลายๆ ด้านแล้ว ยังเป็นงานเดบิวด์ หรือสร้างนักแสดงรุ่นใหม่เข้าสู่วงการมากมาย
ก่อนที่ อุ๋ย-นนทรีย์ จะส่งภาพยนตร์ “นางนาก” (พ.ศ.2542) มาสร้างประวัติศาสตร์ “โรงแตก” หรือ ตั๋วจองเต็มทุกรอบ ยืนโปรแกรมฉายอย่างยาวนาน และเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ทำรายได้เกินกว่า 100 ล้านบาท(สรุปทำรายได้ประมาณ 150 ล้านบาท)
สถิติ พระเอก 100 ล้าน นางเอก 100 ล้าน ยังส่งมาถึง วินัย ไกรบุตร-ทราย เจริญปุระ 2 นักแสดงที่สวมบทเป็น พี่มาก-แม่นาก ได้ตรงใจผู้ชมมากที่สุด ซึ่งนอกเหนือไปจากกระแสความนิยมแล้ว ต้องยกย่องคุณภาพของบทภาพยนตร์ การตีความเนื้อหา และนำเสนอเรื่องราวความรักของ “แม่นาก” ได้อย่างมีพลัง ขณะเดียวกันก็รักษาบรรยากาศของความน่ากลัว สยองขวัญ ไว้ได้แบบครบทุกรสชาติ
ทั้งหมดนั้นคือส่วนหนึ่งของ “หนังไทย” ที่ผ่านตา และประทับใจ ในทศวรรษ 90s ยุครุ่งเรืองและน่าจดจำที่สุดอีกยุคหนึ่งเลยทีเดียว
*** อย่าพลาด เวทีทอล์ค พูดคุยย้อนสู่ยุค 90 กับ “ทราย เจริญปุระ” บนเวที งาน “FEED RETRO Music •Talk • Food • Book • Trip” #90sไม่นานมานี้ ในวันอาทิตย์ที่ 26 พ.ย. 2566 นี้ เวลา 16.00 – 16.50 น. ที่ มิวเซียมสยาม ***